ประสิทธิผลโปรโตคอลเสริมการฟื้นตัว (ERAS) ในการผ่าตัดคลอด งานวิจัยแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม
ณัฐชา กลางประพันธ์, อมรินทร์ นาควิเชียร, จุฑารัตน์ เลื่อนผลเจริญชัย, วิภาดา เหล่าสุขสถิตย์*
Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Srinakharinwirot University, Ongkharak, Nakhon Nayok 26120, Thailand; E-mail: Wipada@g.swu.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เปรียบเทียบการฟื้นตัวหลังผ่าตัดโดยแบบสอบถามคุณภาพการฟื้นตัวฉบับภาษาไทย 35 และประเมินความเจ็บปวดโดยเครื่องมือวัดความเจ็บปวดระหว่างหญิงตั้งครรภ์ที่นัดมาผ่าตัดคลอดในกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยโปรโตคอลเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (enhanced recovery after surgery (ERAS) protocol) และได้รับการดูแลตามมาตรฐาน (Standard protocol)
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาเป็นแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ทำในประชากรหญิงตั้งครรภ์เดี่ยวที่นัดมาเพื่อผ่าตัดคลอดโดยได้รับการดูแลโดยโปรโตคอลเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (ERAS protocol) และได้รับการดูแลตามมาตรฐาน (Standard protocol) โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วย 48 คน ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ประเมินการฟื้นตัวหลังผ่าตัดที่ 24 ชั่วโมง และคะแนนความเจ็บปวดและเปรียบเทียบภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดที่ 72 ชั่วโมง ระหว่างการดูแลทั้ง 2 รูปแบบ
ผลการศึกษา: หญิงตั้งครรภ์ครบกำหนดในการศึกษา จำนวน 48 คน มีจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษา 5 คน ที่ถูกนำออกจากการศึกษาทำให้เหลือผู้เข้าร่วมการศึกษา จำนวน 43 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยโปรโตคอลเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (ERAS group) จำนวน 21 คน และกลุ่มที่ได้รับการดูแลลตามมาตรฐาน (Standard group) จำนวน 22 คน การวิเคราะห์ข้อมูลในรายที่มีข้อมูลสมบูรณ์ (Per protocol analysis) ค่าเฉลี่ยคะแนนแบบสอบถามประสิทธิภาพการฟื้นตัวหลังผ่าตัวเท่ากับ 153.7 (±10.2) and 149 (± 32), p = 0.20 ในกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยใช้โปรโตคอล ERAS และกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐาน ตามลำดับ และค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวดที่ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดเท่ากับ 3.1 (±1.9) และ 5.1 (±1.9), p < 0.05 ในกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยใช้โปรโตคอล ERAS และกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานตามลำดับ โดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดของผู้เข่าร่วมการศึกษาทั้ง 2 กลุ่ม
สรุป: จากการศึกษาไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างคะแนนแบบสอบถามประสิทธิภาพการฟื้นตัวหลังผ่าตัดฉบับภาษาไทยระหว่างกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยโปรโตคอลเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (ERAS protocol) และกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐาน (Standard protocol) อย่างไรก็ตามด้านความเจ็บปวดหลังผ่าตัดพบว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยโปรโตคอลเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัดมีคะแนนความเจ็บปวดที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและไม่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดที่ 72 ชั่วโมง การศึกษาพบว่าการดูแลโดยโปรโตคอลเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัดสามารถที่จะลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดได้อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติโดยไม่พบผลลบต่อผลของการผ่าตัด
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2565, November-December ปีที่: 30 ฉบับที่ 6 หน้า 393-402
คำสำคัญ
pain, Cesarean section, อาการปวด, การผ่าตัดคลอดบุตร, quality of recovery, enhancing recovery, เสริมการฟื้นตัว, ประสิทธิภาพการฟื้นตัว