ผลของการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้และการประคบอุ่นต่อการหลั่งน้ำนมและการคัดตึงเต้านม: การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
ชุดาณัฏฐ์ ขุนเพชร, โสเพ็ญ ชูนวล*, ศศิธร พุมดวงคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา E-mail: sophen.c@psu.ac.th
บทคัดย่อ
ปัญหาการหลั่งน้ำนมประกอบด้วยการมีน้ำนมเต็มเต้าล่าช้า ปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอ และการคัดตึงเต้านมเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้มารดาครรภ์แรกหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเร็วขึ้น การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้และการประคบอุ่นต่อการหลั่งน้ำนมและการคัดตึงเต้านมในมารดาครรภ์แรก ใช้โปรแกรมมินิไมแรนดอมไมเซชั่น (minimized randomization) ในการสุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่ม 1) กลุ่มการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้และการประคบอุ่นจำนวน 21 ราย 2) กลุ่มการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้จำนวน 21 ราย หรือ 3) กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ จำนวน 21 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบบันทึกการมีน้ำนมเต็มเต้า แบบบันทึกปริมาณน้ำนม และแบบวัดระดับอาการคัดตึงเต้านม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติอ้างอิง
ผลการวิจัยพบว่า การมีน้ำนมเต็มเต้าในกลุ่มที่ได้รับการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้และการประคบอุ่นเกิดขึ้นเร็วกว่ากลุ่มที่ได้รับการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้และกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปริมาณน้ำนมในกลุ่มที่ได้รับการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้และการประคบอุ่นมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้และกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การคัดตึงเต้านมของกลุ่มที่ได้รับการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้และการประคบอุ่นน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้และกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นการนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้และการประคบอุ่นสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลหรือสอนญาติเพื่อส่งเสริมการมีน้ำนมเต็มเต้าเร็วขึ้น เพิ่มปริมาณน้ำนม และป้องกันการคัดตึงเต้านม
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2565, July-September
ปีที่: 26 ฉบับที่ 3 หน้า 390-403
คำสำคัญ
Randomized controlled trial, Breast engorgement, การประคบอุ่น, onset of lactation, Milk volume, Southern Thai traditional massage, Warm compression, การคัดตึงเต้านม, ปริมาณน้ำนม, การมีน้ำนมเต็มเต้า, การนวดพื้นบ้านไทยภาคใต้