ประสิทธิผลของการใช้ท่อพลิกคว่ำ-หงายมือในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะฟื้นฟู: การศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
จิรวรรณ โปรดบำรุง, วรุณนภา ศรีโสภาพ*, สุวนัย แสงราช
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์: การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อคือสาเหตุหลักของการจำกัดการทำงานของรยางค์บนหลังการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ท่อฝึกพลิกคว่ำ-หงายมือ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของท่อฝึกพลิกคว่ำ-หงายมือ
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมในอาสาสมัครโรคหลอดเลือดสมองระยะกึ่งเฉียบพลันจำนวน 16 ราย โดยใช้วิธีการสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมจำนวนกลุ่มละ 8 ราย ทั้ง 2 กลุ่มได้รับการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดแบบดั้งเดิม ครั้งละ 45 นาที จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ กลุ่มทดลองได้รับการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกำมือโดยใช้ท่อ จำนวน 15 ครั้ง ต่อเซตจำนวน 3 เซต แล้วพัก 2 นาที จนกว่าจะครบ 30 นาที แล้วตามด้วยการฝึกกายภาพบำบัดแบบดั้งเดิม ตัวแปรหลักในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ การทำงานของรยางค์บนข้างอัมพาต ประเมินโดย Streamlined Wolf Motor Function Test ฉบับสำหรับผู้ป่วย sub-acute stroke (SWMFT-sub-acute) ตัวแปรรองได้แก่ องศาการเคลื่อนไหวด้วยตนเองเองในท่าพลิกคว่ำ-หงายมือ แรงบีบมือ และการฟื้นตัวของระบบประสาทสั่งการรยางค์บน ประเมินโดย goniometer, hand grip dynamometer และ Fugl-Meyer assessment for upper extremity (FMA-UE) ตามลำดับ โดยประเมินก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการรักษา
ผลการศึกษา: พบว่า การทำงานของรยางค์บนข้างอัมพาต องศาการเคลื่อนไหวด้วยตนเองในท่าคว่ำ-หงายมือ แรงบีบมือ และการฟื้นตัวของระบบประสาทสั่งการรยางค์บน ของอาสาสมัครกลุ่มทดลอง เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) อย่างไรก็ตาม ไม่พบความแตกต่างกับกลุ่มควบคุม
 สรุป: ท่อพลิกคว่ำ-หงายมือมีผลการฟื้นฟูการทำงานของรยางค์บนสูงกว่าการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว
 
 
 
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2565, September-October ปีที่: 37 ฉบับที่ 5 หน้า 525-532
คำสำคัญ
pronation, supination, sub-acute stroke, upper limb functional activity, คว่ำมือ, หงายมือ, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะกึ่งเฉียบพลัน, การทำงานของรยางค์บน