ผลของการฝึกการทรงตัวด้วยเครื่องสะท้อนกลับจากแรงกดฝ่าเท้าในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง :การศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
จิรวรรณ โปรดบำรุง, วรุณนภา ศรีโสภาพ*
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์: โรคหลอดเลือดสมองทำให้เกิดความพิการในกลุ่มประชากร ปัจจุบันมีการนำเทคนิคสะท้อนกลับมาใช้ในการฝึกฟื้นฟู การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฝึกการทรงตัวด้วยเครื่องสะท้อนกลับด้วยแรงกดที่ฝ่าเท้าในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเรื้อรัง
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมโดยปกปิดสองทาง ในอาสาสมัครโรคหลอดเลือดสมองระยะเรื้อรัง จำนวน 29 ราย โดยใช้วิธีการสุ่มเข้ากลุ่มทดลอง 16 ราย และกลุ่มควบคุม 13 ราย  ทั้ง 2 กลุ่มได้รับการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดแบบดั้งเดิม ครั้งละ 45 นาที จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ กลุ่มทดลองได้รับการฝึกด้วยเครื่องสะท้อนกลับด้วยแรงกดที่ฝ่าเท้า 20 นาทีต่อครั้ง 3 วันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์แล้วตามด้วยการฝึกกายภาพบำบัดแบบดั้งเดิมตัวแปร ในการศึกษาได้แก่ ความสามารถในการทรงตัวประเมินโดย Berg balance scale (BBS) และความเสี่ยงต่อการล้มประเมินโดยTime up and Go test (TUG) โดยประเมินก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการรักษา
ผลการศึกษา: พบว่าทั้งสองกลุ่มมีค่า BBS และ TUG เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)  เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มพบว่าค่า TUG  ของกลุ่มทดลอง ต่างกับกลุ่มควบคุมทั้งก่อนและหลังส่วนค่า BBS ของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันทั้งก่อนและหลังการศึกษา
สรุป: การฝึกการทรงตัวด้วยเครื่องสะท้อนกลับจากแรงกดฝ่าเท้า เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในทรงตัวดีขึ้นมากกว่าการทำกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียว
 
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2565, September-October ปีที่: 37 ฉบับที่ 5 หน้า 518-524
คำสำคัญ
Balance, การทรงตัว, Chronic stroke, force platform, biofeedback, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเรื้อรัง, เครื่องสะท้อนจากแรงกดด้วยฝ่าเท้า