ต้นทุน-ประสิทธิผลของการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคจิตเภทโดยทีมสหสาขาวิชาชีพเปรียบเทียบกับการดูแลในระบบบริการปกติของเครือข่ายบริการสุขภาพ อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี
อาริยา ตั้งมโนกุล, สุรศักดิ์ ไชยสงค์*
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150 Email: surasak.c@msu.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินต้นทุน-ประสิทธิผลของการเยี่ยมบ้าน (home health care: HHC) ในผู้ป่วยโรคจิตเภทโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ เปรียบเทียบกับการดูแลในระบบบริการปกติ (usual care: UC) ในอำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ในมุมมองของสังคม วิธีการ: การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ไปพร้อมกับการศึกษาทางคลินิก ใช้แบบวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมในผู้ป่วยโรคจิตเภท 60 คน (กลุ่ม HHC 30 คน กลุ่ม UC 30 คน) ทั้งสองกลุ่มได้รับการดูแลที่โรงพยาบาลตามปกติ กลุ่ม HHC ได้รับการเยี่ยมบ้านโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ จำนวน 3 ครั้ง ผลลัพธ์ที่วัด คือ การเกิดอาการจิตเภทกำเริบ (recurrence symptom)  การนอนโรงพยาบาลจากอาการจิตเภทกำเริบ (hospitalization) และอรรถประโยชน์ (utility) ที่วัดโดยใช้แบบสอบถาม EQ-5D-5L และแบบประเมินสภาวะสุขภาพทางตรง (visual analog scale) การศึกษาวัดต้นทุนในการเยี่ยมบ้าน และต้นทุนเกี่ยวกับการรักษาทั้งต้นทุนทางตรงทางการแพทย์ ต้นทุนทางตรงที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ และต้นทุนทางอ้อม ในช่วงเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2562 การศึกษาคำนวณอัตราส่วนของต้นทุนต่อประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (incremental cost-effectiveness ratio: ICER) และวิเคราะห์ความไวแบบทางเดียว ผลการศึกษา: ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (กลุ่ม HHC ร้อยละ 60 vs. กลุ่ม UC ร้อยละ 63) อายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 93 vs. 67) พักอาศัยอยู่กับครอบครัว (ร้อยละ 77 vs. 90) เป็นโรคจิตเภทมากกว่า 5 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 73 vs. 53) เมื่อติดตามผลลัพธ์ในเดือนที่ 6 พบว่า กลุ่ม HHC และกลุ่ม UC มี การเกิดอาการจิตเภทกำเริบ (ร้อยละ 0 vs. 16.6, P=0.020) และ hospitalization (ร้อยละ 0 vs. 13.33, P=0.038) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีค่า utility ที่เพิ่มขึ้น 11.00+10.86 คะแนน vs. 9.50+9.13 คะแนน (P=0.697) ตามลำดับ ต้นทุนของกิจกรรมเยี่ยมบ้านเฉลี่ย 3,588.45 บาทต่อคน ต้นทุนรวมเฉลี่ย เท่ากับ 8,502.97 บาทต่อคน ในกลุ่ม HHC และ 6,004.41 บาทต่อคน ในกลุ่ม UC ค่า ICER เท่ากับ 14,988.36 บาทต่อการลดการเกิดอาการจิตเภทกำเริบ 1 คน, 18,743.89 บาทต่อการลด hospitalization 1 คน และ 181,615.33 บาทต่อปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้น การวิเคราะห์ความไวจะมีความคุ้มค่าในกรณีปรับลดต้นทุนกิจกรรมเยี่ยมบ้านลงร้อยละ 20 สรุป: การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคจิตเภทโดยทีมสหสาขาวิชาชีพมีประสิทธิผลและหากลดต้นทุนในการเยี่ยมบ้านได้จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นหน่วยบริการสุขภาพควรสนับสนุนบริการเชิงรุกนี้
 
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมไทย ปี 2565, July-September ปีที่: 14 ฉบับที่ 3 หน้า 522-540
คำสำคัญ
Schizophrenia, ต้นทุน-ประสิทธิผล, โรคจิตเภท, Cost-effectiveness analysis, Primary care, Multidisciplinary team, ทีมสหสาขาวิชาชีพ, Home health care, บริการปฐมภูมิ, การเยี่ยมบ้าน