ประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของสเปรย์ผสมสมุนไพรกระดูกไก่ดำเทียบกับไดโคลฟีแนกสเปรย์ในการรักษาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ
สุภาภรณ์ ปิติพร, ณัฐดนัย มุสิกวงศ์, ศักดิ์สิทธิ์ จิตรกฤษฎากุล, อัญชิสา กัทลี, ธนพงศ์ เพ็งผล, ผกากรอง ขวัญข้าว*
แผนกศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อำเภอปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี 26000
บทคัดย่อ
สมุนไพรกระดูกไก่ดำ (Justicia gendarussa Burm.f.) เคยมีการใช้เป็นยาพื้นบ้านโดยนำใบตำผสมสุราแล้วพอกรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ บวม ปวดข้อ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของสเปรย์ผสมสมุนไพรกระดูกไก่ดำ (JGS)  เปรียบเทียบกับยาสเปรย์ไดโคลฟีแนก (DFS) ในผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ โดยศึกษาเชิงทดลองแบบ randomized double-blinded controlled trial ในผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อนที่ระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อายุระหว่าง 15-70 ปี ผู้เข้าร่วมวิจัยถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มโดยวิธีการสุ่ม กลุ่มแรกได้รับยาสเปรย์ผสมสมุนไพรกระดูกไก่ดำ กลุ่มที่ 2 ได้รับยาสเปรย์ไดโคลฟีแนก พ่นบริเวณที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น เป็นระยะเวลา 7 วัน ประเมินประสิทธิศักย์ในการบรรเทาอาการปวดด้วยคะแนนความปวด (rest pain)  การบวมบริเวณที่บาดเจ็บ (swelling) รวมทั้งจำนวนเม็ดยาพาราเซตมอลที่รับประทาน ประเมินระดับความรู้สึกโดยรวมของผู้เข้าร่วมวิจัย และผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะประชากรระหว่างผู้เข้าร่วมวิจัย 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน เมื่อประเมิน pain score พบว่า ยา JGS มีผลลดคะแนนความปวดได้ไม่แตกต่างกับยา DFS (mean difference VAS = -0.13, 95%CI -0.81, 0.56; p = 0.68) ยา JGS มีผลลดการบวมได้ไม่แตกต่างกับการใช้ยา DFS (risk ratio = 0.988, 95%CI 0.66, 1.48; p = 0.951) เมื่อสิ้นสุดการรักษาพบว่าผู้ป่วยในทั้งสองกลุ่มใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดไม่แตกต่างกัน (p = 0.194) และพบผลข้างเคียงจากยาคือการระคายเคืองผิวหนังไม่แตกต่างกันทางสถิติ 8.3% และ 6.38 % ในกลุ่ม JGS และกลุ่ม DFS ตามลำดับ (p > 0.05) กล่าวโดยสรุปคือการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่ายาสเปรย์ผสมสมุนไพรกระดูกไก่ดำมีประสิทธิศักย์และความปลอดภัยเทียบเท่ากับยาสเปรย์ไดโคลฟีแนกในการรักษาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อที่มีระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2565, May-August ปีที่: 20 ฉบับที่ 2 หน้า 223-234
คำสำคัญ
Randomized controlled trial, Efficacy, Safety, ความปลอดภัย, Efficacy, การทดลองแบบสุ่ม, การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ, Justicia gendarussa Burm.f., soft tissue injury, สมุนไพรกระดูกไก่ดำ, ประสิทธิศักย์