การศึกษาประสิทธิภาพของการทาครีมยาชาที่ปากมดลูกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูก เปรียบเทียบกับการทาครีมยาหลอกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูกในการลดความเจ็บปวดระหว่างการทำหัตถการขูดมดลูกแบบแยกส่วน
บดินทร์ ดวงฤดีสวัสดิ์*, สุกัญญา ศรีนิล
Department of Obstetrics and Gynecology, Khon Kaen Hospital, Khon Kaen, Thailand; Email: bordin.dear@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการทาครีมยาชาที่ปากมดลูกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูก เปรียบเทียบกับการทาครีมยาหลอกที่ปากมดลูกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูกในการลดความเจ็บปวดระหว่างการขูดมดลูกแบบแยกส่วน
วัสดุและวิธีการ: สตรีที่มีข้อบ่งชี้ในการทำหัตถการขูดมดลูกแบบแยกส่วนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 106 คน ถูกสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับการทาครีมยาชาที่ปากมดลูกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูก และกลุ่มที่ได้รับการทาครีมยาหลอกที่ปากมดลูกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูกก่อนทำหัตถการขูดมดลูกแบบแยกส่วน สตรีทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินความเจ็บปวดโดยใช้มาตรวัดความเจ็บปวดด้วยสายตาจำนวน 4 ครั้ง คือ ขณะใช้อุปกรณ์ยึดจับปากมดลูก ระหว่างทำหัตถการขูดมดลูกแบบแยกส่วน หลังทำหัตถการขูดมดลูกแบบแยกส่วนเสร็จทันที และหลังทำหัตถการขูดมดลูกแบบแยกส่วนเสร็จนาน 30 นาที รวมถึงมีการประเมินภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาและความต้องการยาแก้ปวดชนิดอื่นเพิ่มเติม
ผลการศึกษา: ข้อมูลลักษณะพื้นฐานทางประชากรศาสตร์ของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน คะแนนความเจ็บปวดระหว่างการทำหัตถการขูดมดลูกแบบแยกส่วนในกลุ่มที่ทาครีมยาชาที่ปากมดลูกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูก (กลุ่มทดลอง) น้อยกว่ากลุ่มที่ทาครีมยาหลอกที่ปากมดลูกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูก (กลุ่มควบคุม) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวด ± ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมมีค่า 2.80 ± 0.29, 5.34 ± 0.39 ตามลำดับ, p < 0.001) ภาวะแทรกซ้อนที่พบในทั้งสองกลุ่ม คือ วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และหูอื้อ ซึ่งพบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง รวมถึงไม่มีการใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นเพิ่มเติมในทั้งสองกลุ่ม
สรุป: การทาครีมยาชาที่ปากมดลูกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูก สามารถลดความเจ็บปวดระหว่างทำหัตถการขูดมดลูกแบบแยกส่วนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการใช้ยา
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2565, March-April ปีที่: 30 ฉบับที่ 2 หน้า 120-127
คำสำคัญ
Fractional curettage, Paracervical block, Visual analog scale, การขูดมดลูกแบบแยกส่วน, การฉีดยาชาข้างปากมดลูก, lidocaine prilocaine cream, ครีมยาชา, การให้คะแนนความเจ็บปวดโดยใช้มาตรวัดความเจ็บปวดด้วยสายตา