ผลของโคลชิซีนต่อการลดการอักเสบของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในโรงพยาบาลสุรินทร์
ถาวร ชูชื่นกลิ่น
หน่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลสุรินทร์
บทคัดย่อ
ที่มาของปัญหา: ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่รักษาโดยการเปิดหลอดเลือดหัวใจที่อุดตันร่วมกับการรักษาตามมาตรฐานของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ถ้าค่า C reactive protein (CRP) ซึ่งบ่งบอกว่ามีการอักเสบในร่างกายยังสูงอยู่ พบว่ามีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำของโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตได้สูง โคลชิซีนเป็นยาต้านการอักเสบซึ่งมีข้อมูลว่าสามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบได้
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลการลดการอักเสบของยาโคลชิซีน 0.6 มิลลิกรัม ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการทำหัตถการใส่สายสวนหัวใจเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตันโดยดูค่า highsensitivity-Troponin l (hs-Trop l), Creatinine kinase-myocardial brain fraction (CK-MB), CRP เป็นผลลัพธ์หลัก การบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายและผลข้างเคียงจากยาเป็นผลลัพธ์รอง
วิธีการศึกษา: ผู้ป่วยอายุ 18 ถึง 80 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและได้รับการทำหัตถการใส่สายสวนหัวใจเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตันในโรงพยาบาลสุรินทร์จำนวน 44 ราย สุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้โคลชิซีน 0.6 มิลลิกรัมต่อวันและอีกกลุ่มได้ยาหลอก ทั้งสองกลุ่มให้ยานาน 14 วัน ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาตามมาตรฐานของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ดูความแตกต่างของค่า hs-Trop l, CKMB, CRP, การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายและผลข้างเคียงของยาโคลชิซีนกับยาหรอกเมื่อสิ้นสุดการศึกษาผลการศึกษา: การให้โคลชิซีน 0.6 มิลลิกรัมต่อวันเทียบกับยาหลอก ไม่พบความแตกต่างในข้อมูลพื้นฐานทั้ง 2 กลุ่ม  ได้แก่ อายุ เพศ ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ รวมทั้งผลข้างเคียงจากยา ไม่พบความแตกต่างของค่า hs-Trop l วันเริ่มการศึกษา, วันที่ 1, 2, 3, 4 และ วันที่ 14 (p=0.15, 0.11, 0.96, 0.71, 0.45, 0.22 ตามลำดับ) ค่า CKMB (p= 0.64, 0.90, 0.41, 0.57, 0.66 ตามลำดับ) รวมทั้งการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายในวันที่ 1 และวันที่ 14 ก็ไม่พบความแตกต่างเช่นกัน
สรุป: จากการศึกษานี้การให้โคลชิซีนในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ไม่แสดงให้เห็นว่าสามารถลดการอักเสบของร่างกายเมื่อเทียบกับยาหลอก
 
ที่มา
วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปี 2565, April-June ปีที่: 39 ฉบับที่ 2 หน้า 151-159
คำสำคัญ
C-reactive protein, Acute myocardial infarction (AMI), primary percutaneous coronary intervention (PPCI), colchicine, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, โคลชิซีน, การทำหัตถการใส่สายสวนหัวใจเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุุดตัน