ผลของการให้ข้อมูลก่อนและหลังผ่าตัดต่อคุณภาพชีวิตและความวิตกกังวลในผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจแบบเปิด โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
สยาม ทวีสมบัติ, กฤตพัทธ์ ฝึกฝน*, อัญชลี สุวรรณศิริเจริญ
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดผลก่อน-หลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตและระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ก่อนและหลังการได้รับข้อมูลก่อนและหลังการผ่าตัด กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ตามคุณสมบัติที่กำหนด จำนวน 35 คน เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แผนการให้ข้อมูลก่อนและหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เก็บข้อมูลโดยใช้แบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์กรอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย และแบบวัดความวิตกกังวล มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.74 และ 0.70 ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างได้รับการประเมินคุณภาพชีวิตและความวิตกกังวล และได้รับข้อมูลการผ่าตัดตั้งแต่ก่อนผ่าตัดจนกระทั่งจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตและระดับความวิตกกังวลก่อนและหลังการทดลองโดยใช้สถิติ WILCOXON SIGNED-RANKS TEST
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 29 คนจาก 35 คน เข้าสู่กระบวนการวิจัยโดยสมบูรณ์ หลังการทดลองกลุ่มตัวอย่างมีระดับคุณภาพชีวิตเฉลี่ยต่อ (MEAN= 96.10, S.D. = 3.38) สูงกว่าก่อนการทดลอง (MEAN = 92.86, S.D. = 3.20) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Z= -4.311, P<0.001)  ระดับความวิตกกังวลก่อน (MEAN = 7.34, S.D. = 1.67) และหลังการทดลอง (MEAN = 7.03, S.D. = 1.38) แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (Z= -1.482)
การให้ข้อมูลก่อนและหลังผ่าตัดอย่างมีแบบแผนเป็นแนวทางการพยาบาลวิธีหนึ่งที่ควรส่งเสริมให้มีการนำไปใช้เพื่อเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
 
ที่มา
วารสารพยาบาลโรคหัวใจและทรวงอก ปี 2564, July-December ปีที่: 32 ฉบับที่ 2 หน้า 105-119
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Open heart surgery, Anxiety, ความวิตกกังวล, คุณภาพชี่วิต, pre and post-operative information program, การให้ข้อมูลก่อนและหลังผ่าตัด, ผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจแบบเปิด