ประสิทธิภาพของโคลชิซีนขนาดต่ำในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
ถาวร ชูชื่นกลิ่น
กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย 32000
บทคัดย่อ
บทนำ: ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสาเหตุหลักเกิดจากตะกอนหรือตะกรันในหลอดเลือดหัวใจมีการปริแตกกระตุ้นกระบวนการเกิดลิ่มเลือดทำให้อุดตันหลอดเลือดหัวใจตามมากระบวนการอักเสบมีส่วนร่วมสำคัญในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันถ้าค่า C-reactive protein (CRP) ยังสูงอยู่บ่งบอกว่ามีการอักเสบในร่างกายและมีโอกาสกลับเป็นซ้ำของโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตได้สูง โคลชิซีนเป็นยาต้านการอักเสบซึ่งมีข้อมูลว่าสามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบได้
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของโคลชิซีนเปรียบเทียบกับยาหลอกในการลดกระบวนการอักเสบในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการทำหัตถการใส่สายสวนหัวใจเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง (Prospective, randomized , double blinded, placebo-controlled study) ในผู้ป่วยอายุ 18-80 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและได้รับการทำหัตถการใส่สายสวนหัวใจเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตันในโรงพยาบาลสุรินทร์จำนวน 36 ราย สุ่มผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้ colchicine 0.6 มิลลิกรัมต่อวันและอีกกลุ่มได้ยาหลอกทั้งสองกลุ่มให้ยานาน 30 วัน ผู้ป่วยทุกรายได้รับ optimal medical treatment ดูความแตกต่างของค่า C-reactive protein การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย และผลข้างเคียงของยาโคลชิซีนกับยาหลอกโดยติดตามการวิจัยจนครบ 90 วัน
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่ได้โคลชิซีน 0.6 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบกับยาหลอกไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของค่า C-reactive protein ตั้งแต่วันที่เริ่มการศึกษา วันที่ 3 14 และ 30 (p=0.96,0.52,0.59 และ 0.30, ตามลำดับ) รวมทั้งการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายในวันที่ 1 14 30 และ 90 ก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในทุกช่วงเวลาเช่นกัน (p=0.72,0.88,0.18 และ 0.29, ตามลำดับ) ผลข้างเคียงจากยาทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน
สรุป: จากการศึกษานี้ พบว่าการให้โคลชิซีนไม่สามารถลดการอักเสบ ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการทำหัตถการใส่สายสวนหัวใจเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตันและไม่พบการเปลี่ยนแปลงของการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายเมื่อเทียบกับยาหลอก
 
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ปี 2565, January-April ปีที่: 37 ฉบับที่ 1 หน้า 137-147
คำสำคัญ
Acute myocardial infarction (AMI), primary percutaneous coronary intervention (PPCI), colchicine, C-reactive protein (CRP), กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, การทำหัตถการใส่สายสวนหัวใจเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน, โคลชิซีน, ซี-แอคทีฟโปรตีน