ผลของการหายใจแบบห่อริมฝีปากต่อภาวะคงค้างของอากาศภายในปอดหลังการทดสอบการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
อโนมา สันติวรกุล*, ปรียานุช สายทองอินทร์, อัสวานี บิลล่าเต๊ะ, จาตุรณ สามแก้ว, ซูไรย๊ะ ดอฆอ, นิฟารีดะห์ อิสาเอะ, อัครเดช คงขำ
สาขาวิชากายภาพบำบัด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ e-mail: panoma@wu.ac.th
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาผลของการหายใจแบบห่อริมฝีปาก ในขณะที่ทำการทดสอบการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่อปริมาตรคงค้างของอากาศภายในปอด หลังการหายใจออกความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดและความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน  10  คน ที่มีอายุ  60  ปีขึ้นไป มีระดับความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับปานกลางถึงหนัก รูปแบบการศึกษาใช้แบบสุ่มไขว้กลุ่ม แบ่งผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มที่ทำการหายใจแบบห่อริมฝีปากและไม่ได้ทำการหายใจแบบห่อริมฝีปาก ขณะทำการทดสอบการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทุกคนจะได้รับการประเมินค่าปริมาณของอากาศที่หายใจเข้าเต็มที่ หลังจากหายใจออกตามปกติ ซึ่งแสดงค่าปริมาตรคงค้างของอากาศ ภายในปอดหลังการหายใจออกและประเมินค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ก่อนและหลังการทดสอบการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน รวมทั้งประเมินระยะเวลาในการทำการทดสอบการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ทำการหายใจแบบห่อริมฝีปาก ขณะทำการทดสอบการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันมีค่าปริมาณอากาศที่คงค้างภายในปอดหลังการหายใจออกลดลงและมีค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ทำการหายใจแบบห่อริมฝีปากอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ 
(p-value  <  0.05)  อย่างไรก็ตามผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างของระยะเวลาในการทำการทดสอบการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของทั้งสองกลุ่ม
 
ที่มา
วารสารการพยาบาลและสุขภาพ ปี 2562, October-December ปีที่: 13 ฉบับที่ 4 หน้า 24-35
คำสำคัญ
copd, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, Pursed lips breathing, Glittre-ADLtest, การหายใจแบบห่อริมฝีปาก, การทดสอบการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน