ต้นทุน-ประสิทธิผลของโปรแกรมการคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดกับการลดการส่งต่อเพื่อตรวจวินิจฉัยความบกพร่องการได้ยินเด็กแรกเกิด
สมจินต์ จินดาวิจักษณ์*, นภัสถ์ ธนะมัย, อรุณวรรณ คงศักดิ์ศรี, ศรัญญา วิทยประไพพันธ์, อัจฉราพร คิดใจเดียว, ฤทัย สุสัณฐิตพงษ์, สุวรรณา เชาว์อมรภัทร, สุปราณี บุญมี, ชลิดา เขมวรานันท์, อรุณี ไทยะกุล
โรงพยาบาลราชวิถี ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: โปรแกรมการคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดปัญหาการส่งต่อเด็กที่มีผลการคัดกรองการได้ยินผิดปกติเพื่อให้การวินิจฉัย จากการที่มีปัญหาความขาดแคลนของนักตรวจแก้ไขการได้ยิน ซึ่งส่วนใหญ่มีจำนวนน้อยต่อเขตสุขภาพ วัตถุประสงค์: ศึกษาต้นทุนประสิทธิผลของโปรแกรม
คัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดโดยการใช้ Automated Auditory Brainstem Response (AABR) ร่วมกับ Otoacoustic Emission (OAE) ในการลดจำนวนเด็กที่ต้องส่งต่อมาเพื่อรับการวินิจฉัย เปรียบเทียบกับโปรแกรม OAE อย่างเดียว
วิธีการ: ใช้ข้อมูลจากการคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลราชวิถีระหว่าง 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563 เพื่อประเมินต้นทุนและประสิทธิผลของการคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดด้วย AABR
ร่วมกับ OAE เมื่อตรวจไม่ผ่าน และ ข้อมูลจากงานวิจัยการคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดโรงพยาบาลราชวิถีด้วย OAE อย่างเดียวในปี พ.ศ. 2554 การประเมินต้นทุนประสิทธิผลใช้แบบจำลอง กำหนดกรอบระยะเวลาในแบบจำลอง 1 ปี คือตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 1 ปี โดยใช้มุมมองทางสังคม ความคุ้มค่าวิเคราะห์
จากอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มในการลดจำนวนทารกที่ตรวจไม่ผ่านและส่งต่อเพื่อการตรวจวินิจฉัย วิเคราะห์ความไม่แน่นอนของผลลัพธ์โดยวิธี one-way sensitivity analysis
ผล: พบว่า ต้นทุนทางตรงทางการแพทย์ของวิธี AABR + OAE เมื่อ OAE ไม่ผ่าน มีค่า 1,016.61 บาท และ วิธี OAE ซึ่งมีค่า 188.71 บาท เมื่อคิดค่าใช้จ่ายทั้งต้นทุนทางการแพทย์ และ ต้นทุนทางอ้อมในแบบจำลอง พบว่า วิธี AABR + OAE เมื่อ OAE ไม่ผ่าน มีค่า 3,186,461.00 บาท แต่ OAE คิดเป็น 3,314,425.61 บาทต่อ
การคัดกรองการได้ยินทารก 10,000 ราย โดยมีทารกที่ต้องส่งต่อไปวินิจฉัย 12 ราย เทียบกับ 54 รายในวิธีเดิม สามารถประหยัดเงินได้ 3,044.33 บาท ต่อการส่งต่อเพื่อการตรวจวินิจฉัยหนึ่งราย ความน่าจะเป็นที่คัดกรองด้วยวิธี OAE ครั้งที่ 2 แล้วผ่าน เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลที่สุดต่อความไม่แน่นอน
สรุป: โปรแกรมการคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดด้วย AABR ร่วมกับ OAE เมื่อ OAE ไม่ผ่าน ช่วย
ลดการส่งต่อทารกเพื่อการวินิจฉัยด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนนักตรวจแก้ไขการได้ยิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเรื่องของการส่งต่อและระยะเวลารอคอยการวินิจฉัย
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2564, October-December ปีที่: 46 ฉบับที่ 4 หน้า 20-29
คำสำคัญ
cost effectiveness, ต้นทุนประสิทธิผล, Automated auditory brainstem response (AABR), Otoacoustic Emission(OAE), Refer rate, คัดกรองการได้ยินด้วย OAE, คัดกรองการได้ยินด้วย AABR, อัตราการส่งต่อ