ประสิทธิภาพของโปรแกรมการเลิกบุหรี่ที่มีการบูรณาการร่วมกันของการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง : การศึกษาเชิงทดลอง
วิษณุ อนิลบล*, จตุพร ไตรภัทรกิจโกศล, คุ้มวงศ์ องอาจ
โรงพยาบาลปากน้ำหลังสวน ตำบลปากน้ำ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร 86150
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโรงพยาบาลปากน้ำ หลังสวน ที่ได้รับโปรแกรมส่งเสริมการเลิกบุหรี่โดยประยุกต์จากแนวคิดของแบบจำลองขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมต่อการเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สูบบุหรี่โดยการบูรณาการร่วมกันของการแพทย์แผนปัจจุบัน กับการแพทย์แผนไทย โดยการแนะนำการดูแลตัวเองด้วยหลักธรรมานามัย การนวดกดจุดสะท้อนเท้า การใช้สมุนไพร เพื่อช่วยเลิกบุหรี่ คือ ยาอมมะแว้ง ชาชงหญ้าดอกขาว รางจืดแบบแคปซูล เทียบกับในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ไม่ได้รับโปรแกรมประยุกต์หรือได้รับการรักษาแบบเดิม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจาก กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโรงพยาบาลปากน้ำหลังสวน จำนวน 88 คน โดยวิธีจับฉลากรายชื่อแบบไม่ใส่คืน ได้ กลุ่มตัวอย่าง ในกลุ่มทดลองจำนวน 44 คน และกลุ่มควบคุมจำนวน 44 คน ผ่านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จากคณะ กรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามและ โปรแกรมส่งเสริมการเลิกบุหรี่โดยประยุกต์จากแนวคิดของแบบจำลองขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่อการ เลิกบุหรี่โดยการบูรณาการร่วมกันของการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่าง ที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุอยู่ในช่วง 60-69 ปี มากที่สุด ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็น ความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง และเบาหวาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับความพร้อมในการเลิกบุหรี่อยู่ในระยะชั่งใจ ร้อยละ 75.30 ผลการเลิกสูบบุหรี่ในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมหลังเข้าร่วมการวิจัยครบ 6 เดือน มีผู้เลิกบุหรี่ได้ทั้งหมด ร้อยละ 44.16 โดยกลุ่มทดลองเลิกบุหรี่ได้ร้อยละ 46.30 และกลุ่มควบคุมเลิกบุหรี่ได้ร้อยละ 41.70 ผลของการเลิกสูบ บุหรี่ในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีผู้ป่วยที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ทั้งหมด ร้อยละ 44.16 ดังนั้น การประยุกต์โปรแกรมการเลิกบุหรี่โดยประยุกต์จากแนวคิดของแบบจำลองขั้นตอนการ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่อการเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สูบบุหรี่โดยการบูรณาการร่วมกันของการแพทย์ แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย สามารถทำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2564, May-August ปีที่: 19 ฉบับที่ 2 หน้า 370-382
คำสำคัญ
Smoking cessation, การเลิกสูบบุหรี่, Tobacco, บุหรี่, non-communicable diseases, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง