คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
อังคณา เรือนก้อน, จุฑากานต์ กิ่งเนตร, คุณญา แก้วทันคำ, Panithiracha Fuongtong, สุวรรณี สร้อยสงค์*
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบศึกษาไปข้างหน้า วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มาตรวจรักษาในคลินิกเบาหวาน แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลแพร่ จังหวัดแพร่ จำนวน 291คน เครื่องมือทีใช้ในการวิจัยประกอบด้วย (1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลสุขภาพ (2) แบบวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetes-39 Thailand) จำนวน 39 ข้อ และวัดคุณภาพชีวิตโดยรวม 1 ข้อ ความเชื่อมั่นแบบสอบถามมีค่าสัมประสิทธิ์
แอลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ 0.85 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา
                ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 62.54 อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ
54.64 มีภาวะดัชนีมวลกาย ≥ 25 กก./เมตร2 ร้อยละ 41.24 ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด มากกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ ร้อยละ 57.73 คุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย =4.735, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน =1.380) มิติสุขภาพที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตมากที่สุด คือ มิติด้านความมีเรี่ยวแรงและความกระปรี้กระเปร่า ได้แก่ ความรู้สึกอ่อนเพลียอ่อนล้าในการทำกิจกรรม มีปัญหาด้านการมองเห็น และมิติสุขภาพที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตรองลงมาคือ มิติด้านการควบคุมเบาหวาน ได้แก่ ไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่อง และผลที่ตามมาคือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ดังนั้นบุคลากร สาธารณสุขควรติดตามประเมินพฤติกรรมการดูแลสุขภาพและความสามารถในการทำกิจกรรมเพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะอ่อนล้า อีกทั้งตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ประเมินภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เพื่อป้องกันผลที่ตามมาจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานและส่งเสริมให้ผู้ป่วยเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น
 
ที่มา
Journal of Disease and Health Risk DPC.3 ปี 2562, May-August ปีที่: 13 ฉบับที่ 2 หน้า 37-49
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2, คุณภาพชี่วิต, patients with type 2 diabetes