ผลของโปรแกรมสร้างความร่วมมือในการใช้ยาโดยใช้เภสัชกรรมทางไกลในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ศิริพร พรหมรัตน์, พนิตา ค้าผล, ณัฏฐิญา ค้าผล*
ภาควิชาเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมสร้างความร่วมมือในการใช้ยา โดยใช้เภสัชกรรมทางไกลในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่โรงพยาบาลนครปฐม จำนวน 65 คน ได้รับการสุ่มให้อยู่ในกลุ่มทดลอง 35 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน กลุ่มทดลองจะได้รับการเตือนให้รับประทานยา พร้อมทั้งได้รับข้อมูลความเสี่ยงและความรุนแรงของการเป็นโรคความดันโลหิตสูง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอาหาร และการออกก าลังกายทุกวันเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยผู้ป่วยสามารถตอบกลับและสอบถามเภสัชกรได้ตลอดเวลาผ่านโปรแกรมในแอปพลิเคชันไลน์ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับการบริการตามปกติ ผลของการศึกษาที่ประเมิน ได้แก่ ความร่วมมือในการรับประทานยา ซึ่งวัดด้วยแบบประเมิน Morisky Medication Adherence Scale 8-item (MMAS-8) และการวัดความเชื่อด้านสุขภาพ ข้อมูลวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา และเชิงอนุมาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Man-Whitney U Test, Wilcoxon Signed Ranks Test และ Binary Logistic Regression ผลการศึกษา พบว่า การได้รับโปรแกรมสร้างความร่วมมือในการใช้ยามีความสัมพันธ์กับความร่วมมือในการใช้ยาระดับปานกลางถึงดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) โดยผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแนนความร่วมมือในการใช้ยาเฉลี่ย 6.02+0.75 มากกว่ากลุ่มควบคุม (ค่าเฉลี่ย+SD=4.47+0.85) และผลด้านความเชื่อด้านสุขภาพด้านการรับรู้โอกาสเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง การรับรู้ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง การรับรู้ประโยชน์ของการรักษาโรคความดันโลหิตสูง มีการรับรู้ที่ดีขึ้น และการรับรู้อุปสรรคการรับประทานยาลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) ดังนั้น โปรแกรมสร้างความร่วมมือในการใช้ยาโดยใช้เภสัชกรรมทางไกลสามารถช่วยเพิ่มความร่วมมือในการรับประทานยาให้ผู้ป่วยได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอและมีโอกาสในการควบคุมโรคได้อย่างต่อเนื่อง
 
ที่มา
Thai Bulletin of Pharmceutial Sciences ปี 2564, January-June ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 31-41
คำสำคัญ
hypertension, Health belief model, แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ, ความดันโลหิตสูง, Medication adherence, ความร่วมมือในการใช้ยา, telepharmacy, เภสัชกรรมทางไกล