การวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยและจุดคุ้มทุนการให้บริการฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนในโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง
สมศักดิ์ เขื่อนชนะ*, กุสุมา ลาโพธิ์, อากร บุญเกิด, สุรินทร์ อวดร่าง
โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี 15000
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขและอุบัติการณ์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการรักษาด้วยการฉายรังสีมีบทบาทสำคัญและจำเป็น แต่ค่าใช้จ่ายทั้งด้านการจัดซื้อเครื่องฉายรังสีและการดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมค่อนข้างสูง ดังนั้นความเหมาะของต้นทุนในการซื้อเครื่องฉายรังสีรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุน (Helical Tomotherpy) ที่มีความจำเพาะและมีราคาสูง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาต้นทุนอย่างชัดเจน วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยและจุดคุ้มทุนในการให้บริการฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนในโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรีที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2562 เพื่อใช้วางแผนการบริการให้เกิดความเหมาะสมและคุ้มค่า วิธีการ: กำหนดศูนย์ต้นทุน (cost center) เพื่อเก็บข้อมูลต้นทุนและกระจายต้นทุนสู่กิจกรรมย่อยของการฉายรังสีด้วยสัดส่วนของภาระงานและรวบรวมรายได้จากการรักษาย้อนหลังในผู้ป่วยทุกราย ผล: พบว่ามีผู้รับบริการ 184 รายต่อปีหรือ 4,604ครั้งต่อปี และรายได้จากเรียกเก็บค่าบริการเฉลี่ย 116,604.27 บาทต่อรายหรือ 4,518.69 บาทต่อครั้งตามลำดับ และต้นทุนต่อหน่วย(unite cost)เท่ากับ 154,523.46 บาทต่อรายหรือ 6,175.57 บาทต่อครั้ง และจุดคุ้มทุน (break-even point) เท่ากับ 250.59 รายต่อปีหรือ 6,489.38 ครั้งต่อปี ตามลำดับ และกรณีคิดต้นทุนทุกชนิดยกเว้นค่าเครื่องฉายรังสี พบว่ามีค่าต้นทุนต่อหน่วย 87,566.94 บาทต่อราย หรือ 3,499.63 บาทต่อครั้ง และมีค่าจุดคุ้มทุน (breakeven point) 133.01 รายต่อปีหรือ 3,444.40 ครั้งต่อปีตามลำดับ สรุป: ต้นทุนต่อหน่วยการรักษาด้วยการฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนในโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรีสูงกว่ารายได้จากเรียกเก็บค่าบริการเฉลี่ยต่อรายและจุดคุ้มทุนสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยที่ให้บริการเช่นกัน ซึ่งการทบทวนและปรับระบบเพื่อเพิ่มการให้บริการในเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนที่มีความจำเพาะและราคาสูงดังกล่าวเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลควรพิจารณาเพื่อสามารถให้การบริการผู้ป่วยมีความเหมาะสมและคุ้มค่า แต่การเพิ่มจำนวนผู้รับบริการในทางปฏิบัติอาจทำได้ยากมากกว่าการรวมศูนย์ของการบริการ และจัดระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพอาจจะเกิดประโยชน์ในภาพรวมมากกว่าการจัดซื้อเครื่องฉายรังสีกระจายไปทุกแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนที่มีความจำเพาะมีราคาและต้นทุนดูแลบำรุงรักษาสูงดังกล่าว แม้ว่าต้นทุนต่อหน่วยกรณีไม่คิดต้นทุนค่าเครื่องฉายรังสีจะต่ำกว่า นอกจากนี้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ประสิทธิภาพของการเรียกเก็บค่าบริการฉายรังสีและค่ารักษาพยาบาลไปยังกองทุนต่างๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของจำนวนและประเภทของสิทธิการรักษาของผู้รับบริการรวมถึงความเหมาะสมของอัตราการจ่ายชดเชยการให้บริการจากกองทุนต่างๆ ที่อาจต้องปรับให้เหมาะสมกับต้นทุนที่แท้จริงเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยการฉายรังสีมีประสิทธิภาพและคุณภาพ ตลอดจนมีความยั่งยืนต่อไป
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2564, April-June ปีที่: 46 ฉบับที่ 2 หน้า 54-60
คำสำคัญ
Unit cost, ต้นทุนต่อหน่วย, Break-even point, จุดคุ้มทุน, Helical Tomotherpy, เครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุน