การใช้อัลตราซาวนด์ให้ประสิทธิผลไม่ด้อยกว่าการใช้เอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้เพื่อระบุตำแหน่งนิ่วในการสลายนิ่วในไตและนิ่วในท่อไตส่วนต้น
นันทวัฒน์ ศิริธานันท์*, วาสนา สุขคุ้ม
กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร 10230
บทคัดย่อ
บทนำ: การสลายนิ่วเป็นการรักษานิ่วที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้ในการระบุตำแหน่งของนิ่วการพัฒนาโดยใช้อัลตราซาวนด์ในการระบุตำแหน่งของนิ่วแทนวิธีดั้งเดิม จะมีประโยชน์ทำให้ผู้ป่วยและแพทย์ไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับรังสีเอกซเรย์จากการใช้เอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้ วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผล และความปลอดภัยการใช้อัลตราซาวนด์และการใช้เอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้ในการระบุตำแหน่งของนิ่วระหว่างการสลายนิ่วในไตและนิ่วในท่อไตส่วนต้น วิธีการ: การศึกษานี้เป็นการศึกษาในสถาบันเดียวแบบสุ่มที่แสดงความไม่ด้อยกว่า (non-inferiority trial) ในผู้ป่วยจำนวน 154 รายที่เป็นนิ่วชนิดมองเห็นได้จากเอกซเรย์ (radiopaque) ในไตและในท่อไตผู้ป่วยจะได้รับการสุ่มเพื่อแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกจะใช้อัลตราซาวนด์และกลุ่มที่สองใช้เอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้ในการระบุตำแหน่งนิ่วโดยประเมินอัตราความสำเร็จในการสลายนิ่ว อัตราที่นิ่วหลุด และผลข้างเคียงของการสลายนิ่วเพื่อเปรียบเทียบทั้งสองกลุ่ม ผล: ขนาดนิ่ว ตำแหน่งนิ่ว อายุ เพศ ค่าดัชนีมวลกายของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน อัตรานิ่วหลุด (stone free rate) ของกลุ่มที่ใช้อัลตราซาวนด์ระบุตำแหน่งนิ่วคิดเป็นร้อยละ 80.5 เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ เอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้คิดเป็นร้อยละ 81.8 (p = 0.837) ซึ่งไม่มีความแตกต่างกัน จากผลการศึกษานี้พบว่าการใช้อัลตราซาวนด์ไม่ด้อยกว่ากลุ่มที่ใช้เอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้เพื่อระบุตำแหน่งนิ่วอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.037) อาการปัสสาวะเป็นเลือดซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยของการสลายนิ่ว ในกลุ่มที่ใช้อัลตราซาวนด์ระบุตำแหน่งนิ่วพบร้อยละ 31.6 เทียบกับกลุ่มที่ใช้เอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้พบร้อยละ 38.3 ก็ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน โดยในทั้งสองกลุ่มไม่พบว่ามีผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง สรุป: จากผลการศึกษาพบว่า การสลายนิ่วโดยใช้อัลตราซาวนด์ให้ประสิทธิผลไม่ด้อยกว่าเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้เพื่อระบุตำแหน่งนิ่วในการสลายนิ่วในไตและนิ่วในท่อไตส่วนต้น โดยมีข้อดีที่เหนือกว่าคือการที่ผู้รักษาและผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับรังสีเอกซเรย์จากการใช้เอกซเรย์ฟลูโอโรสโคป
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2564, January-March ปีที่: 46 ฉบับที่ 1 หน้า 30-44
คำสำคัญ
renal stone, ESWL, สลายนิ่ว, Ureteral stone, นิ่วในท่อไต, อัลตราซาวนด์, Ultrasound guided, นิ่วในไต