ปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิหลังได้รับการผ่าตัด
ฉัตรกมล ประจวบลาภ*, ประภาพร จินันทุยาสาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย E-mail: c.klinmalai@gmail.com
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย เพื่อศึกษาอำนาจในการทำนายของการฟื้นตัวด้านการ ทำหน้าที่และการสนับสนุนทางสังคมต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิหลังได้รับการผ่าตัด กลุ่มตัวอย่างได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์การคัดกลุ่มตัวอย่างจำนวน 80 ราย มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคเนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิและได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เก็บข้อมูลในระยะหลังผ่าตัดภายในเวลา 30 วันและตรงกับวันที่ผู้รับบริการ มาตรวจตามนัดครั้งแรก ด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเนื้องอกสมอง วิเคราะห์ข้อมูล ด้วยสถิติพรรณนาและสถิติถดถอยพหุคูณแบบคัดตัวแปรเข้า (Enter regression)
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด (93.80%) มีการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่อยู่ในระดับ ของการพึ่งพาเล็กน้อย ร้อยละ 63.75 ได้รับการสนับสนุนทางสังคมในระดับมากที่สุด และมีระดับคุณภาพ ชีวิตหลังได้รับการผ่าตัดค่าเฉลี่ยเท่ากับ 94.11 (SD = 11.74) ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับต่ำมากที่สุด (ร้อยละ 82.50) การสนับสนุนทางสังคม สามารถอธิบายความผันแปรของคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิหลังได้รับการผ่าตัดได้ร้อยละ 9 (R = .307, R2 = 0.094, p < .01)
ผลการศึกษาครั้งนี้สนับสนุนกรอบแนวคิดทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านของ Meleis และคณะ ที่ว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากภาวะการเจ็บป่วยมีปัจจัยที่สามารถส่งเสริมและขัดขวางการเปลี่ยนผ่าน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่ดี ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนการฟื้น ตัวด้านการทำหน้าที่ อาจไม่มีผลขัดขวางการเปลี่ยนผ่านในกลุ่มผู้ป่วยเนื้องอกสมองที่มีระดับความรู้สึกตัวดี ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการพึ่งพาผู้อื่นในระดับเล็กน้อยมากที่สุด อีกทั้งกลุ่มตัวอย่างมีผู้ช่วยเหลือ ดูแลขณะเจ็บป่วย
พยาบาลควรส่งเสริมบุคคลในครอบครัวให้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยและการส่งเสริมฟื้นฟูสภาพ ร่างกายผู้ป่วยระหว่างเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ ได้ดีขึ้น รวมทั้งควรประเมินความเครียด ความวิตกกังวล วิธีการเผชิญปัญหาหรือการจัดการกับอาการของ ผู้ป่วยซึ่งอาจมีผลขัดขวางการเปลี่ยนผ่านได้
ที่มา
Thai Red Cross Nursing Journal ปี 2562, January-June
ปีที่: 12 ฉบับที่ 1 หน้า 194-210
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Social support, การสนับสนุนทางสังคม, คุณภาพชี่วิต, recovery functional, brain tumor patients, การฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่, ผู้ป่วยเนื้องอกสมอง