เปรียบเทียบประสิทธิผลการใส่ 2% ไลโดเคนและเดกซาเมทาโซนในถุงลมของท่อช่วยหายใจต่ออาการไม่สบายคอภายหลังการระงับความรู้สึกด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ
ทิพพาภรณ์ ศรีพล
โรงพยาบาลอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ทำขึ้นเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพ การลดอาการไม่สบายบริเวณกล่องเสียงและหลอดลม และความพึงพอใจ ระหว่างการใส่ไลโดเคน และ เดกซาเมทาโซน ในถุงลมของท่อช่วยหายใจของผู้ป่วยที่มาเข้ารับการระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว เป็นการศึกษาแบบ prospective Randomized Controlled Trial ในผู้ป่วย จำนวน 93 ราย โดยจะได้รับยาแตกต่างกันไปด้วยวิธีสุ่ม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม A ได้รับยา 2%ไลโดเคน กลุ่ม B ได้รับยาเดกซาเมทาโซน และกลุ่ม C ได้รับสารน้ำเกลือ ประเมินระดับความรุนแรงของอาการเจ็บคอ เสียงแหบ และกลืนลำบาก โดยใช้ตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 3 วัดที่ 1 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมงภายหลังการระงับความรู้สึก และสอบถามระดับความพึงพอใจของผู้เข้ารับบริการแบ่งเป็นระดับ 1 ถึง 5 โดยผลการศึกษาพบว่าที่เวลา 1 ชั่วโมง ไลโดเคน ลดอาการเจ็บคอได้ดีกว่า เดกซาเมทาโซนและสารน้ำเกลือ (P=0.001) เมื่อเปรียบเทียบที่เวลา 24 ชั่วโมง ไลโดเคนและเดกซาเมทาโซน มีประสิทธิภาพดีกว่าสารน้ำเกลือในการลดเจ็บคอ (p<0.001, p=0.006 ตามลำดับ) และในกลุ่ม ไลโดเคน พบอาการกลืนลำบากและเสียงแหบน้อยกว่ากลุ่ม เดกซาเมทาโซนและสารน้ำเกลือ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.001, p=0.027, p=0.002, p=0.001 ตามลำดับ) เปรียบเทียบความพึงพอใจภายหลังการใส่ท่อช่วยหายใจ พบว่าไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (P=0.129) สรุปผลการศึกษาพบว่า การใส่ ไลโดเคน ในถุงลมของท่อช่วยหายใจสามารถลดอาการเจ็บคอได้ดีกว่า เดกซาเมทาโซน ที่ระยะเวลา 1 ชั่วโมง และที่เวลา 24 ชั่วโมง ไลโดเคน ลดอาการเสียงแหบและกลืนลำบากได้ดีกว่า เดกซาเมทาโซน แต่อาการเจ็บคอนั้นไม่แตกต่างกัน
 
ที่มา
Journal of Medical and Public Health Region 4 ปี 2564, October-March ปีที่: 11 ฉบับที่ 1 หน้า 39-48
คำสำคัญ
dexamethasone, Lidocaine, เด็กซาเมทาโซน, Sore throat, เจ็บคอ, Normal saline, เดกซาเมทาโซน, Post-extubation symptom, Tracheal tube cuff, อาการไม่สบายคอภายหลังใส่ท่อช่วยหายใจ, ไลโดเคน, สารน้ำเกลือ, ถุงลมของท่อช่วยหายใจ