ผลการให้ความรู้และคำแนะนำการใช้ยาพ่นในผู้ป่วยโรคหืดต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ
จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์, ปรียานุช ศิริมัย*, วัชรา บุญสวัสดิ์
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการให้ความรู้และคำแนะนำผู้ป่วยโรคหืดเกี่ยวกับการใช้ยาพ่น ที่มีต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจแบบตัดขวางโดยใช้แบบสอบถาม เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยนอกโรคหืดที่เป็นผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลทั่วไปจำนวน 183 ราย สัมภาษณ์ผู้ป่วยถึงการได้รับความรู้และคำแนะนำใน 1 ปี ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการใช้ยาพ่น ใน 2 ประเด็น คือ 1) การได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาพ่นซึ่งรวมทั้งวิธีใช้ยาพ่นอย่างถูกวิธี และคำแนะนำในการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์อย่างสม่ำเสมอ และ 2) การได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับยาพ่นขยายหลอดลมเมื่ออาการหอบกำเริบ เก็บข้อมูลคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพโดยการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามคุณภาพชีวิต Short Form (SF)-36 Items Health Survey ของ the Medical Outcomes Study (MOS) ฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบคะแนนคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ (health related quality of life; HRQOL) ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับและไม่ได้รับความรู้และคำแนะนำการใช้ยาพ่นใน 2 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับความรู้และคำแนะนำใน 2 ประเด็นร่วมกัน ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับคำแนะนำการใช้ยาพ่น เกี่ยวกับการใช้ยาพ่นอย่างถูกวิธีและการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์อย่างสม่ำเสมอ มีคะแนนคุณภาพชีวิต Mental Component Summary (MCS), vitality (VT) และ mental health (MH) สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับคำแนะนำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (MCS 46.9 ± 10.3 vs. 40.8 ± 9.1, p <0.01; VT 59.1 ± 18.6 vs. 50.2 ± 18.3, p < 0.05; และ MH 68.9 ± 18.9 vs. 57.6 ± 20.8, p < 0.01; ตามลำดับ) สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับยาพ่นขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็วเมื่ออาการหอบกำเริบนั้น พบว่า คะแนนคุณภาพชีวิต physical component summary  (PCS), และคะแนนในมิติ physical function (PF), role physical (RP), และ general health (GH) สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับคำแนะนำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (PSC 46.6 ± 9.6 vs. 40.4 ± 8.8, p < 0.01; PF 84.4 ± 17.6 vs 69.7 ± 22.9, p < 0.01; RP 69.4 ± 36.5 vs. 48.7 ± 39.1, p < 0.01; และ GH 53.1 ± 24.5 vs. 40.7 ± 20.0, p < 0.01; ตามลำดับ) ดังนั้น การให้ความรู้และคำแนะนำผู้ป่วยโรคหืดเกี่ยวกับการใช้ยาพ่น ได้แก่ วิธีใช้ยาพ่นอย่างถูกวิธี, คำแนะนำในการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนวิธีปรับยาพ่นเมื่ออาการหอบกำเริบ จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืด ซึ่งเภสัชกรควรมีบทบาทในการให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ป่วยโรคหืดในประเด็นดังกล่าว
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2550, September-December ปีที่: 17 ฉบับที่ 3 หน้า 231-243
คำสำคัญ
Quality of life, Education, คุณภาพชีวิต, Asthma, inhaler, Short Form (SF)-36 Items Health Survey, การให้ความรู้และคำแนะนำ, ยาพ่น, แบบสอบถาม short form (SF)-36 Items Health Survey, โรคหืด