ประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจรต่อการร่วมรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย โรงพยาบาลนครปฐม
ดารารัตน์ รัตนรักษ์*, รจิรา เข็มเพชร, อุษณีย์ พูลวิวัฒน์กูล, สิรีธร นิมิตวิไล, อรอนงค์ เหล่าตระกูล
Nakhonpathom Hospital, Nakhon Pathom
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัย ของฟ้าทะลายโจรขนาดสูงและขนาดมาตรฐาน ในรูปแบบผงอัดแคปซูลและแบบสกัด เทียบกับกลุ่มควบคุม ต่อการร่วมรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีอาการรุนแรงน้อย
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาฟ้า ทะลายโจร 4 รูปแบบ ในการใช้เป็นยาร่วมในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อยและไม่ได้รับยาต้านไวรัส เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร ณ โรงพยาบาลนครปฐม ระหว่าง เดือนธันวาคม 2563 ถึง เดือนมกราคม 2564 สุ่มกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 5 กลุ่ม โดยวิธี block sampling กลุ่มควบคุมได้รับการรักษาตาม มาตรฐานโดยไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร กลุ่มศึกษาอีก 4 กลุ่ม ได้รับการรักษาตามมาตรฐานร่วมกับฟ้าทะลายโจร รูปแบบต่างๆ ดังนี้ ฟ้าทะลายโจรผงอัดแคปซูล 60 และ 180 มิลลิกรัมต่อวัน ฟ้าทะลายโจรสกัด 60 และ 180 มิลลิกรัม ต่อวัน นานติดต่อกัน 5 วัน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบน มาตรฐาน เพื่อแสดงลักษณะของประชากรตัวอย่าง ชนิดของอาการไม่พึงประสงค์ chi-square test, t test และone-way ANOVA ใช้เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มของอาสาสมัคร ระยะเวลาการหายของโรคโควิด-19 และระยะเวลาการหายของแต่ละอาการ กำหนดให้ค่า p-value < .05 ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ
ผลการศึกษา: มีอาสาสมัครเข้าร่วมการศึกษา 57 ราย อายุเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มคือ 37.15–41.83 ปี ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มควบคุม จำนวน 13 ราย กลุ่มที่ 2 และ 3 ได้รับยาฟ้าทะลายโจรผงอัดแคปซูล 60 และ 180 มิลลิกรัม ต่อวัน จำนวน 12 และ 13 ราย กลุ่มที่ 4 และ 5 ได้รับยาฟ้าทะลายโจรสกัด 60 และ 180 มิลลิกรัมต่อวัน จำนวน 9 และ 10 ราย ตามลำดับ ผลการศึกษาด้านประสิทธิผล พบว่า อาสาสมัครที่ได้รับฟ้าทะลายโจรทุกรายเริ่มมีอาการ ดีขึ้นตั้งแต่วันแรกของการใช้ยา และไม่พบอาการแสดงใดๆ ตั้งแต่วันที่ 7 ของการเข้าร่วมในการศึกษา ในขณะที่กลุ่ม ควบคุมไม่พบอาการแสดงในวันที่ 7 เพียงร้อยละ 53.8 ผลต่างของค่าเฉลี่ย VAS แต่ละอาการ เมื่อเวลาก่อนและหลังได้ รับยาฟ้าทะลายโจร 5 วัน พบว่า กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรมีระยะเวลาของอาการโควิด-19 สั้นกว่า และมีประสิทธิผล ในการลดน้ำมูก ความรุนแรงในการไอ ความถี่ในการไอ ลดปัญหาการรับกลิ่นได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม เมื่อเปรียบเทียบ ประสิทธิผลของฟ้าทะลายโจรทั้ง 2 รูปแบบ พบว่า ฟ้าทะลายโจรผงอัดแคปซูลมีประสิทธิผล ในการลดอาการปวด ศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และลดน้ำมูกได้ดีกว่าฟ้าทะลายโจรสกัด ในขณะที่ฟ้าทะลายโจรสกัดให้ประสิทธิผลลดอาการ เจ็บคอ ลดความถี่และความรุนแรงในการไอ และลดปัญหาการรับรสรับกลิ่นได้ดีกว่าในกลุ่มฟ้าทะลายโจรผงอัดแคปซูล ทั้งนี้ฟ้าทะลายโจรขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ให้ผลลดความถี่ในการไอได้ดีกว่าขนาด 60 มิลลิกรัมต่อวัน ผลการศึกษา ด้านความปลอดภัย พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อาการท้องเสียและปวดแสบกระเพาะอาหารจากการใช้ฟ้า ทะลายโจรผงอัดแคปซูล 180 มิลลิกรัมต่อวัน และฟ้าทะลายโจรรูปแบบสกัดทั้งขนาด 60 และ 180 มิลลิกรัมต่อวัน
สรุป: ฟ้าทะลายโจรช่วยลดระยะเวลาของอาการโควิด-19 มีประสิทธิผลในการลดน้ำมูก ไอ ความถี่ ในการไอ และลดปัญหาการรับกลิ่นได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม
 
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2564, April-June ปีที่: 40 ฉบับที่ 2 หน้า 269-282
คำสำคัญ
Andrographis paniculata, ฟ้าทะลายโจร, Andrographolide, COVID-19 with mild symptoms, สารแอนโดรกราโฟไลด์, โควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย