การใช้ผ้าห่มฉุกเฉินเพื่อช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะหนาวสั่นหลังการผ่าตัด
ปิยมาน งามเจริญรุจี
กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : ภาวะหนาวสั่นในผู้ป่วยหลังได้รับการระงับความรู้สึกเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและสัมพันธ์กับ การเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำ ทำให้ร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น อาจทำให้ภาวะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเพิ่มอัตราการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ซึ่งทางแผนกวิสัญญีจะมีการบริการตาม มาตรฐานความปลอดภัยในการให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วยทั้งในระหว่างทำผ่าตัดและหลังทำผ่าตัดเสร็จสิ้นเมื่อมาดูอาการ ต่อเนื่องในห้องพักฟื้น เช่น การใช้เครื่องเป่าลมอุ่น การใช้น้ำเกลืออุ่น การใช้ผ้าห่มอุ่น รวมทั้งการให้ยารักษา และจาก การศึกษาพบว่าการใช้ผ้าห่มฉุกเฉินสามารถช่วยลดภาวะหนาวสั่นในผู้ป่วยได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่พบการศึกษา เรื่องนี้อย่างชัดเจนแพร่หลาย ทางผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาผลของการใช้ผ้าห่มฉุกเฉินเพื่อช่วยลดอุบัติการณ์การเกิด ภาวะหนาวสั่นหลังการผ่าตัดในห้องพักฟื้น ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า
วิธีการศึกษา: การศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) โดยเก็บข้อมูลไปข้างหน้า จากเวชระเบียน โดยคัดเลือกผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดและได้รับการระงับความรู้สึกโดยการดมยาสลบหรือ การให้การระงับความรู้สึกทางไขสันหลังตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 จำนวนรวม 342 ราย ทำการสุ่มโดยคอมพิวเตอร์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม 171 ราย และกลุ่มทดลอง 171 รายโดยใช้ผ้าห่มฉุกเฉิน ที่ห้องพักฟื้นหลังเสร็จผ่าตัด โดยทั้งสองกลุ่มจะได้รับการดูแลตามมาตรฐานได้แก่ การใช้เครื่องเป่าลมอุ่น น้ำเกลืออุ่น และผ้าห่มอุ่น เก็บข้อมูลพื้นฐานได้แก่ เพศ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง ASA physical status ข้อมูลด้านการผ่าตัดได้แก่ ระยะเวลาการผ่าตัด การระงับความรู้สึก ปริมาณเลือดที่สูญเสีย ปริมาณสารน้ำที่ได้รับ วัดอุณหภูมิกายทั้งก่อนและ หลังผ่าตัด นำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน independence t test และ chi-square test โดยประมาณค่าขอบเขตความเชื่อมั่นร้อยละ 95 (95% confidence interval; 95% CI)
ผลการศึกษา: เกิดภาวะหนาวสั่นในผู้ป่วยทั้งหมด 15 ราย จากกลุ่มทดลอง 3 ราย และกลุ่มควบคุม 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.7 และ 7.0 ตามลำดับ น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=.017) โดยที่กลุ่มที่ใช้ผ้าห่มฉุกเฉินมีค่า เฉลี่ยอุณหภูมิกายสูงกว่ากลุ่มที่ใช้วิธีมาตรฐาน คือ 36.94 ±  0.26 องศาเซลเซียส และ 36.87 ± 0.47 องศาเซลเซียส ตามลำดับ สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=.008) ส่วนปัจจัยอื่นที่ศึกษาไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย ASA physical status ระยะเวลาการผ่าตัด การเสียเลือด และปริมาณสารน้ำที่ได้รับ
สรุป : การใช้ผ้าห่มฉุกเฉินร่วมกับการให้ความอบอุ่นแบบมาตรฐานในช่วงหลังการระงับความรู้สึกได้ผลดี กว่าวิธีมาตรฐานในการลดภาวะหนาวสั่น
 
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2564, January-March ปีที่: 40 ฉบับที่ 1 หน้า 125-135
คำสำคัญ
Incidence, ภาวะหนาวสั่นหลังการผ่าตัด, space blanket, postanesthetic shivering, ผ้าห่มฉุกเฉิน, อุบัติการณ์