การให้ยา glycopyrrolate เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำจากการระงับความรู้สึกโดยวิธีการฉีดยาชาเข้าทางช่องไขสันหลังในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งกำหนดให้มารับการผ่าตัดคลอด
สุกานดา เจนจรัตน์*, ปิยศักดิ์ วิทยาบูรณานนท์, วรรณา เกษมพงษ์ทองดี
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำภายหลังการฉีดยาระงับความรู้สึกเข้าทางช่องไขสันหลังในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งกำหนดให้มารับการผ่าตัดคลอด ระหว่างกลุ่มที่ได้รับยา glycopyrrolate กับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกก่อนการฉีดยาชาทางช่องไขสันหลัง ร่วมกับศึกษาผลของ glycopyrrolate ในการป้องกันการเกิด
ภาวะหัวใจเต้นช้า การลดปริมาณการใช้ยา ephedrine หรือ atropine อาการคลื่นไส้อาเจียน และอาการปากแห้งในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งกำหนดให้มารับการผ่าตัดคลอด รวมถึงผลต่อ APGAR score ของทารก
วิธีดำเนินการวิจัย: เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง โดยผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นหญิงตั้งครรภ์อายุระหว่าง 18-40 ปี ทั้งสิ้นจำนวน 98 ราย กำหนดให้มารับการผ่าตัดคลอดตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2561 ถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2562 โดยสุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยา glycopyrrolate และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ก่อนการระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาทางช่องไขสันหลัง ทำการวัดและบันทึกค่าความดันโลหิตและชีพจร ที่ 2, 4, 6, 8 และ 10 นาที หลังการระงับความรู้สึก หลังจากนั้นวัดความดันโลหิตและชีพจรทุก ๆ 5 นาที จนครบ 30 นาที บันทึกข้อมูลปริมาณ ephedrine, atropine ที่ใช้ อาการคลื่นไส้-อาเจียน อาการปากแห้ง ของหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าร่วมวิจัย และ APGAR scores ของทารก
ผลการวิจัย: หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับยา glycopyrrolate มีอุบัติการณ์การเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำภายใน 30 นาทีหลังจากระงับความรู้สึกน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกร้อยละ 25 (IRR = 0.75, 95%CI: 0.57 ถึง 0.98) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.032) และ glycopyrrolate สามารถลดการใช้ ephedrine ในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งกำหนดให้มารับการผ่าตัดคลอดโดยการระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาทางช่องไขสันหลัง
สรุป: การให้ยา glycopyrrolate ทางหลอดเลือดดำ ก่อนการระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาทางช่องไขสันหลัง
แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกต่อการป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ ในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งกำหนด
ให้มารับการผ่าตัดคลอด ที่สามารถเป็นประโยชน์ได้ในอนาคต
 
ที่มา
Vajira Medical Journal: Journal of Urban Medicine ปี 2564, March-April ปีที่: 65 ฉบับที่ 2 หน้า 127-134
คำสำคัญ
prophylaxis glycopyrrolate prevent hypotension, spinal anesthesia induced hypotension, hypotension in pregnancy, ยา glycopyrrolate, ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการระงับความรู้สึกโดยวิธีการฉีดยาชาเข้าทางช่อง ไขสันหลัง, ภาวะความดันโลหิตต่ำในหญิงตั้งครรภ