ผลของการนวดต่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและมุมกระดูกสันหลังส่วนเอวขณะนั่งในคนที่มีกล้ามเนื้อรยางค์ส่วนล่างไม่สมดุลแบบ LOWER-CROSSED SYNDROME TYPE B
อาริสร์ กาญจนศิลานนท์, ไพลิน เผือกประคอง*, กานต์พาจี ศรแก้ว
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองเพื่อศึกษาผลของการนวดต่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และมุมกระดูกสันหลังส่วนเอวขณะนั่งในคนที่มีกล้ามเนื้อรยางค์ส่วนล่างไม่สมดุลแบบLower-crossed syndrome  type  B วิธีการทดลอง ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 48 คน จากการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด จากนั้นผู้เข้าร่วมวิจัยจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลองที่ 1 (home program) กลุ่มทดลองที่ 2 (home program ร่วมกับการนวด)และกลุ่มควบคุม โดยผู้เข้าร่วมวิจัยทุกคนได้รับการประเมินความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อด้วยวิธี Sit  and  reach  test และมุมกระดูกสันหลังส่วนเอวด้วยกล้องวีดิโอบันทึกภาพ สถิติ One  way  repeated  measures  ANOVA ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความแตกต่างของความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และมุมกระดูกสันหลังส่วนเอวก่อนและหลังการทดลอง ผลการวิจัย
กลุ่มทดลองที่ 1 และ 2 มีค่าเฉลี่ยมุมกระดูกสันหลังส่วนเอวลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในสัปดาห์ที่ 1, 2, 3 และ 4 (p<0.05) กลุ่มทดลองที่ 1และ 2 มีค่าเฉลี่ยความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในสัปดาห์ที่ 1, 2, 3 และ 4 (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่า มุมกระดูกสันหลังส่วนเอว หลังการทดลองในสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ในกลุ่มทดลองที่ 2 มีค่ามุมโค้งงอน้อยกว่ากลุ่มทดลองที่ 1 และ
กลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) สรุปผลการวิจัย การนวดและ/หรือการยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่งผลให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้นและมุมกระดูกสันหลังส่วนเอวขณะนั่งมีการโค้งงอลดลง
 
ที่มา
วารสารมหาวิทยาลัยคริสเตียน ปี 2563, October-December ปีที่: 26 ฉบับที่ 4 หน้า 95-105
คำสำคัญ
massage, การนวด, Lumbar angle, Muscle flexibility, Lower-crossed syndrome type B, มุมกระดูกสันหลังส่วนเอว, ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ