ผลของการออกกำลังกายแบบฟ้อนไทยทรงดำประยุกต์ต่อ คุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูงและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
หทัยชนก หมากผิน*, วรรณนิศา ธนัคฆเศรณี, ทิพย์สุดา บานแย้ม, สัตพร เจริญสุข, ทิพย์สิตา แก้วหนองเสม็ด
คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยคริสเตียน
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูงและทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูง อาสาสมัครจำนวน 60 คน ได้รับการสุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง มีเพศชาย 4 คน และเพศหญิง 26 คน ซึ่งได้รับโปรแกรมการออกกำลังกายแบบฟ้อนไทยทรงดำประยุกต์เป็นเวลา 50 นาทีต่อครั้ง 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 10 สัปดาห์ และกลุ่มควบคุม มีเพศชาย 8 คน และเพศหญิง 22 คน ได้รับแผ่นพับความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง และดำเนินชีวิตตามปกติที่บ้าน ทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและคุณภาพชีวิตที่ก่อนและหลังการศึกษาเป็นเวลา 10 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองของผู้สูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูงกลุ่มที่ออกกำลังกายแบบฟ้อนไทยทรงดำประยุกต์และกลุ่มควบคุมไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่อย่างไรก็ตามพบว่าคุณภาพชีวิตในมิติด้านความสามารถในการทำกิจกรรมทางกาย ข้อจำกัดเนื่องจากสุขภาพทางกาย ความเจ็บปวดทางกาย สุขภาพจิต ข้อจำกัดอันเนื่องมาจากปัญหาทางอารมณ์ พลังชีวิต และสุขภาพกายทั่วไปของผู้สูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูงกลุ่มที่ออกกำลังกายแบบฟ้อนไทยทรงดำประยุกต์ดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 (p <.05)  ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการออกกำลังกายแบบฟ้อนไทยทรงดำประยุกต์เป็นทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูงและถือเป็นการบูรณาการ
ภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่นมาใช้ในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูงได้
 
ที่มา
วารสารมหาวิทยาลัยคริสเตียน ปี 2563, January-March ปีที่: 26 ฉบับที่ 1 หน้า 28-41
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, elderly, ผู้สูงอายุ, คุณภาพชี่วิต, Applied Thai Songdam dance exercise, Risk of stroke, การออกกำลังกายแบบฟ้อนไทยทรงดำประยุกต์, โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง