การเปรียบเทียบยา 0.05% ออกซีเมทาโซลีนทางจมูก กับยา 3% อีฟีดรีนทางจมูกเพื่อลดอาการคัดจมูก: การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง
นริศ เจียรบรรจงกิจ, เพ็ญมาศ ธีระวณิชตระกูล*, ธนวิทย์ ิอินทรารักษ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20131
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: มียาหลายชนิดที่ใช้ลดอาการคัดจมูกโดยมีทั้งชนิดรับประทานและพ่นจมูก ยาแบบพ่นจมูกแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม beta phenylethylamime derivatives และ midazoline derivatives และยังไม่มีรายงานเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาสองกลุ่มนี้ในการลดอาการคัดจมูก
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบยาพ่นจมูกระหว่าง 0.05% ออกซีเมทาโซลีนกับยา 3% อีฟีดรีน ในการลดอาการคัดจมูก วิธีการ: เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิด มีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง ในผู้ป่วยจำนวน 84 ราย อายุระหว่าง 18-60 ปี ที่มารับการตรวจที่คลินิก หู คอ จมูก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เมษายน 2563 โดยการวัด peak nasal inspiratory flow (PNIF) ก่อนและหลังใช้ยาพ่นจมูก 10 นาที และวัดระดับความรู้สึกโล่งจมูกด้วย visual analogue scale (VAS) ก่อนและหลังใช้ยาพ่นจมูก 10, 30 นาที วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และ Paired t-Test แบบอิสระ
ผล: ระดับ PNIF ก่อนและหลังพ่นยา ทั้งกลุ่มที่พ่น 0.05% ออกซีเมทาโซลีนและยา 3% อีฟีดรีน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.005, 95% CI = -49.74, -26.45 และ p-value < 0.005, 95% CI = -50.72, -31.42, ตามลำดับ) เช่น เดียวกับระดับความรู้สึกโล่งจมูก (VAS) ก่อนและหลังพ่นยา ทั้งกลุ่มที่พ่น 0.05% ออกซีเมทาโซลีน และยา 3% อีฟีดรีน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.005, 95% CI = 1.523, 2.287 และ p-value < 0.005, 95% CI = 2.656, 3.535 ตามลำดับ) ยาทั้ง2 ชนิดสามารถเพิ่มระดับความโล่งของจมูกด้วยการวัดค่า PNIF ที่ 10 นาทีได้แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างผลการใช้ยาทั้ง 2 ชนิด (p-value = 0.847, 95% CI = -19.9, 24.2)
สรุป: ยาพ่นจมูกทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิผลในการลดอาการคัดจมูกได้ไม่แตกต่างกัน แพทย์ผู้รักษาสามารถพิจารณาเลือกยาชนิดใดชนิดหนึ่งได้โดยอาจพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นประกอบ
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2563, October-December ปีที่: 45 ฉบับที่ 4 หน้า 236-242
คำสำคัญ
Ephedrine, oxymetazoline, Nasal obstruction, Peak nasal inspiratory flow, คัดจมูก, การประเมินทางเดินหายใจด้วย, เครื่องวัดลมหายใจเข้า, ยาออกซีเมทาโซลีน, ยาอีฟีดรีน