การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก หลังการรักษาทางทันตกรรมประดิษฐ์: การศึกษาแบบไปข้างหน้าจากเหตุไปหาผล
แมนสรวง อักษรนุกิจ, ณฤดี ลิ้มปวงทิพย์*
ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 10330
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากหลังได้รับการรักษาทางทันต-กรรมประดิษฐ์ และความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวและความสุข
วิธีการศึกษา: การศึกษาแบบไปข้างหน้าจากเหตุไปหาผลนี้มีผู้เข้าร่วมวิจัย 70 คนที่มารับการรักษาทางทันต-กรรมประดิษฐ์ ได้แก่ ฟันเทียมทั้งปาก (CD) ฟันเทียมบางส่วนถอดได้ (RPD) และฟันเทียมบางส่วนติดแน่น (FPD) ศึกษาผลลัพธ์สามด้านที่ประเมินโดยผู้ป่วยก่อนการรักษา (T0) และหลังรับการรักษา (T1) ได้แก่ 1) คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก ซึ่งสัมภาษณ์ด้วยดัชนีผลกระทบจากสภาวะช่องปากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 2) ประสิทธิภาพการบดเคี้ยว ประเมินด้วยแบบสอบถามการบริโภคอาหาร และ 3) ความสุข ประเมินด้วยมาตรวัดของลิเคิร์ต โดยมีจำนวนฟันที่เหลือ จำนวนฟันหลังคู่สบและชนิดฟันเทียมเป็นตัวแปรต้น นำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยสถิตินอนพาราเมตริกซ์ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ทดสอบผลลัพธ์ที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มตัวแปรต้นภายในช่วงเวลาเดียวกันด้วยสถิติไคสแคว์และครัสคาล-วัลลิส ใช้สถิติแมคนีมาร์และวิลคอกซันทดสอบผลลัพธ์ที่แตกต่างกันระหว่างช่วงเวลาภายในกลุ่มตัวแปรต้นเดียวกัน จากนั้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างคะแนน OIDP การบริโภคอาหารและความสุขด้วยสถิติสหสัมพันธ์สเปียร์แมน
ผลการศึกษา: ที่ T0 ร้อยละของการเกิดผลกระทบจากสภาวะช่องปากในผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีฟันหลัง < 4 คู่สบ (80.6) หรือได้รับการรักษาด้วยฟันเทียมถอดได้ (CD  =  88.2, RPD = 72.2) มีค่ามากกว่าผู้ที่มีฟันหลัง > 4 คู่สบ (58.8) หรือได้รับการรักษาด้วย FPD (47.1) คะแนนการบริโภคอาหาร (ค่าเฉลี่ย±ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) มีค่าน้อยกว่าในกลุ่มที่มีฟันหลัง <4 คู่สบ (23.7 ±4.4) หรือได้รับการรักษาด้วย CD (21.9±4.8) เมื่อเปรียบเทียบกับฟัน > 4 คู่สบ (26.8±2.1) หรือได้รับการรักษาด้วย RPD หรือ FPD (26.3±2.8) เมื่อประเมินที่ T1 ร้อยละของผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีผลกระทบมีจำนวนลดลงจาก 70.0 เป็น 24.3 และผู้ที่มีความสุขมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.1 เป็น 94.3 ส่วนคะแนนการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีฟันหลัง <4 คู่สบที่ได้รับการรักษาด้วย RPD หรือ CD ผลลัพธ์ทั้งสามมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติบท
สรุป:  คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากและความสุขเพิ่มขึ้นหลังได้รับการรักษาทางทันตกรรมประดิษฐ์ ดัชนีผลกระทบจากสภาวะช่องปากต่อการใช้ชีวิตประจำวันมีความเหมาะสมในการใช้ประเมินลำดับความสำคัญและผลลัพธ์หลังการรักษาทางทันตกรรมประดิษฐ์ ส่วนแบบสอบถามการบริโภคอาหารเหมาะสมในการใช้ประเมินการรักษาด้วยฟันเทียมทั้งปากเท่านั้น
 
ที่มา
เชียงใหม่ทันตแพทยสาร ปี 2562, September-December ปีที่: 40 ฉบับที่ 3 หน้า 103-112
คำสำคัญ
ฟันเทียม, Happiness, ความสุข, food questionnaire, masticatory ability, oral health-related quality of life, dental prosthesis, แบบสอบถามการบริโภคอาหาร, ประสิทธิภาพการบดเคี้ยว, คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่อง, ปาก, masticatory ability