บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลในการลดน้ำหนักและคุณภาพชีวิตของผู้ที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนที่เข้าร่วมกิจกรรมการลดน้ำหนักด้วยธรรมศาสตร์โปรแกรม เป็นกิจกรรมบูรณาการแบบสหสาขาวิชาชีพ เน้นการดูแลด้านจิตใจด้วยจิตวิทยาเชิงบวกและการโค้ชร่วมกับให้คำแนะนำด้านโภชนาการ กิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย กิจกรรมจัดเป็นเชิงปฏิบัติการ 5 ครั้ง ทุก 2-3 เดือน เป็นระยะเวลา 9 เดือน มีการตรวจร่างกายทุกครั้งที่ร่วมกิจกรรม ประเมินคุณภาพชีวิตด้วยแบบประเมินขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย และตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อน และหลังเข้าโครงการ  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติอ้างอิง  เปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังเข้าโครงการด้วยสถิติทดสอบที ผู้เข้าร่วมการวิจัยมีจำนวน 18 คน อายุเฉลี่ย 44.8±11.6 ปี เป็นผู้หญิงจำนวน 14 คน (ร้อยละ 77.8)  น้ำหนักเฉลี่ยและดัชนีมวลกายก่อนเริ่มโครงการเท่ากับ 78.3±16.3  กิโลกรัม  และ 30.4±5.6กิโลกรัม/เมตร2 ตามลำดับ หลังการศึกษาพบว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยมีน้ำหนักและดัชนีมวลกายเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (-2.2±3.3 กิโลกรัม p < 0.05 และ -0.8 ± 1.3 กิโลกรัม/เมตร2 p<0.05 ตามลำดับ) ผู้เข้าร่วมการวิจัยร้อยละ 33.3 
ลดน้ำหนักได้สำเร็จอย่างน้อยร้อยละ 5.0 ของน้ำหนักเริ่มต้น ระดับไตรกลีเซอไรด์ และเอชดีแอลคอเลสเทอรอล ก่อนและหลังเข้าโครงการไม่มีความแตกต่างกัน ระดับคอเลสเทอรอลรวมแอลดีแอล-คอเลสเทอรอล และน้ำตาลในเลือดช่วงอดอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่อัตราส่วนแอลดีแอลคอเลสเทอรอลต่อเอชดีแอล ไม่เปลี่ยนแปลง  คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้เข้าร่วมการวิจัยเพิ่มขึ้นจากระดับปานกลางเป็นระดับดีอย่างมีนัยสำคัญ (+8.4±6.6  คะแนน  p<0.01)  สรุปการลดน้ำหนักด้วยธรรมศาสตร์โปรแกรมในระยะสั้น ทำให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนน้ำหนักลดลงควบคู่กับการมีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น
 
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2563, November-December ปีที่: 29 ฉบับที่ 6 หน้า 1044-1054
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, mind-body; positive psychology; quality of life; weight loss; Thammasat weight reduction program, จิตใจ-ร่างกาย, จิตวิทยาเชิงบวก, ลดน้ำหนัก, ลดน้ำหนักด้วยธรรมศาสตร์โปรแกรม