ต้นทุนโดยตรงทางการแพทย์ในผู้ป่วยโรคหืดโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี
อารยา วิฑิตพงษ์วนิช, ปิยเมธ ดิลกธรสกุล*
ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000; E-mail: piyamethd@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาต้นทุนโดยตรงทางการแพทย์ในผู้ป่วยโรคหืดในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี วิธีการ: การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาที่เก็บข้อมูลย้อนหลังจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ HOSxP ของโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียงแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีเกณฑ์คัดผู้ป่วยเข้าในการวิจัยคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหืดและเข้ารับบริการระหว่าง 1 ตุลาคม 2556 ถึง 30 กันยายน 2560 ผลลัพธ์หลัก คือ ต้นทุนโดยตรงทางการแพทย์ซึ่งแปลงค่าเรียกเก็บเป็นต้นทุนด้วยวิธีอัตราส่วนต้นทุนต่อค่าเรียกเก็บ (ratio of cost to charge) ผลลัพธ์รอง คือ รูปแบบการรับยาควบคุมอาการ การศึกษาวิเคราะห์ผลตามปีงบประมาณ 2557 - 2560 และสิทธิการรักษา ผลการวิจัย: ผู้ป่วยถูกคัดเข้ามาในการศึกษาทั้งหมด 468 ราย อายุเฉลี่ย 38.47 ± 20.56 ปี ร้อยละ 60.47 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 67.95 ไม่มีโรคเรื้อรังอื่น ๆ ร่วมด้วย และร้อยละ 78.42 มีสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นทุนเฉลี่ยปี 2557 - 2560 เป็น 6,615 ± 9,002, 5,756 ± 6,911, 4,546 ± 8,785 และ 4,557 ± 41,162 บาทต่อรายต่อปีตามลำดับ ต้นทุนเป็นค่ายาร้อยละ 36.05 –51.14 อัตราการรับบริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงจาก 5.31 ± 5.08 ครั้งต่อรายต่อปีในปี 2557 เป็น 3.08 ± 2.47 ครั้งต่อรายต่อปีในปี 2560 นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติมีต้นทุนรวมสูงสุดเป็น 4,938 ± 11,015 บาทต่อรายต่อปีรองลงมา คือ ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ตามลำดับ ผู้ป่วยมีแนวโน้มได้รับ ICS เพื่อควบคุมอาการลดลงจากร้อยละ 70.12 ในปี 2557 เหลือร้อยละ 59.17 ในปี 2560 สรุป: ในปี 2557 –2560 ต้นทุนรวมโดยตรงทางการแพทย์ของผู้ป่วยโรคหืดในโรงพยาบาลแห่งนี้มีแนวโน้มลดลงทุกปี โดยต้นทุนรวมผู้ป่วยนอกทั้งต้นทุนทางยาและไม่ใช่ยามีแนวโน้มลดลง แต่ต้นทุนผู้ป่วยในมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบตามสิทธิการรักษาพบว่า สิทธิประกันสังคมมีอัตราการรับบริการและต้นทุนรวมผู้ป่วยนอกสูงสุด แต่ไม่มีการรับบริการผู้ป่วยในเลย ส่วนสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติมีต้นทุนรวมทั้งหมดและต้นทุนรวมผู้ป่วยในสูงสุด
 
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมไทย ปี 2564, April-June ปีที่: 13 ฉบับที่ 2 หน้า 374-387
คำสำคัญ
Cost, Asthma, โรคหืด, ต้นทุน, Expenditure, ค่าใช้จ่าย, Community hospital, โรงพยาบาลชุมชน