ผลของการให้ลูกสัมผัสผิวหนังแม่ต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในลูกที่แยกกับแม่หลังคลอด
เกษมสิษฐ์ แก้วเกียรติคุณ*, ประกิจ ไผทศิริพัฒน์
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย อีเมล์: kasem38@hotmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความสำเร็จในการดูดนมของลูกในลูกที่แยกกับแม่หลังคลอด 6-24 ชั่วโมง ระหว่างกลุ่มที่ให้ลูกสัมผัสผิวหนังแม่โดยตรงกับกลุ่มที่ไม่ได้สัมผัสผิวหนังแม่ ในวันที่ออกจากโรงพยาบาล 1 และ 3 เดือน หลังคลอด
วิธีดำเนินการวิจัย: การศึกษาทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมในแม่และลูกที่คลอดปกติทางช่องคลอด และถูกแยกจากกันหลังคลอด 6-24 ชั่วโมง จำนวน 64 คู่ ถูกสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่มเท่ากัน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีการสัมผัสผิวหนังแม่ (skin-to-skin contact; SSC) จำนวน 32 คู่ และอีกกลุ่มเป็นการดูแลแบบปกติ (conventional care; CC) จำนวน 32 คู่ ผลลัพธ์หลักคือ ความสำเร็จในการดูดนมครั้งแรกของลูก และในระยะเวลาที่ห่างออกไปจากครั้งแรก 6-12 ชั่วโมง โดยใช้ Infant Breast-Feeding Assessment Tool (IBFAT) ในการประเมินผลลัพธ์รองคือ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในวันที่ออกจากโรงพยาบาล
ที่ระยะเวลา 1 และ 3 เดือน หลังคลอด
ผลการวิจัย: ข้อมูลพื้นฐานทางประชากรศาสตร์ของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันทางสถิติ คะแนน IBFAT ครั้งแรก และครั้งที่สองของกลุ่มที่มีการสัมผัสผิวหนังแม่สูงกว่ากลุ่มที่ดูแลแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (10.47±1.41 vs. 8.00±1.42 และ 11.94±0.25 vs. 10.53±1.11, p < 0.001 ตามลำดับ) อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในวันที่ออกจากโรงพยาบาลของกลุ่มที่มีการสัมผัสผิวหนังแม่สูงกว่ากลุ่มที่ดูแลแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 96.9 ในกลุ่มที่สัมผัสผิวหนังแม่ และร้อยละ 65.6 ในกลุ่มที่ดูแลแบบปกติ, p < 0.001) แต่ผลของที่ระยะเวลา 1 และ 3 เดือนหลังคลอดไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ
สรุป: ลูกที่แยกกับแม่หลังคลอดที่ลูกมีการสัมผัสผิวหนังแม่ช่วยเพิ่มความสำเร็จในการดูดนมของลูกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในวันจำหน่ายจากโรงพยาบาล
 
ที่มา
Vajira Medical Journal: Journal of Urban Medicine ปี 2561, July-August ปีที่: 62 ฉบับที่ 4 หน้า 315-326
คำสำคัญ
skin-to-skin contact, Postpartum mother-infant separation, breast feeding, IBFAT