การรักษาภาวะระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันชนิดขาดออกซิเจนโดยไม่มีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งด้วยออกซิเจนอัตราไหลสูงผ่านทางจมูกเพื่อป้องกันการใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง: งานวิจัยแบบสุ่ม
ปัทมพร แสงแก้ว, จุฑามาศ อินทร์ชัย, พนิดา ชนะญาติ, เฉลิม ลิ่วศรีสกุล*
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม 50200, ประเทศไทย อีเมล์: chalermliw@hotmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาด้วยการให้ออกซิเจนอัตราไหลสูงผ่านทางจมูก (high flow nasal cannula: HFNC) กับการใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ (non-invasive ventilation: NIV) ในการรักษาภาวะระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันชนิดขาดออกซิเจนโดยไม่มีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
วิธีการ ทำการวิจัยแบบสุ่มในผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีภาวะระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันชนิดขาดออกซิเจนโดยไม่มีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้รับการสุ่ม 1 : 1 เพื่อรับการรักษาด้วย HFNC หรือNIV ในหอผู้ป่วยหนักแผนกอายุรกรรม ผลลัพธ์หลักคือความจำ เป็นที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจภายใน 48 ชั่วโมง ผลลัพธ์รอง ได้แก่ อัตราการเสียชีวิตในหอผู้ป่วยหนักที่ 30 วันและในโรงพยาบาล
ผลการศึกษา ในช่วงระยะเวลาการศึกษาผู้ป่วย 19 คน ถูกสุ่มค่าเฉลี่ยพื้นฐานอัตราการหายใจคือ 28.1±4.4 / นาทีเทียบกับ 27.2±5.9 / นาทีและอัตราส่วน P / F เฉลี่ยคือ 197.8±66.1 เทียบกับ 204.5±44.5 ในกลุ่ม HFNC และ NIV ตามลำดับ ค่ามัธยฐาน SOFA คือ 5 (IQR, 3-7) เทียบกับ 3.5 (IQR, 2.75-5.75) และค่ามัธยฐาน SAPS II เท่ากับ 26 ทั้งสองกลุ่มสาเหตุการเกิด AHRF คือการติดเชื้อร้อยละ 61.5 และไม่ติดเชื้อร้อยละ 38.5 ความจำ เป็นในการใส่ท่อช่วยหายใจและ IMV ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากการสุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่ม (ร้อยละ 33.3 เทียบกับ ร้อยละ 20.0, p = 0.51) อัตราการตายในวันที่ 30 คือ ร้อยละ 55.6% เทียบกับร้อยละ 40, p = 0.64) ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาเข้าพัก ICU (2 กับ 5.5 วัน; p = 0.168) หรือระยะเวลาพักรักษาในโรงพยาบาล (18 กับ 21 วัน; p = 0.836)
สรุป ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันชนิดขาดออกซิเจน การให้ HFNC ไม่ลดอัตราการใส่ท่อช่วยหายใจอย่างมีนัยสำคัญที่ 48 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับ NIV เชียงใหม่เวชสาร 2563;59(3):127-36.
 
ที่มา
เชียงใหม่เวชสาร ปี 2563, July-September ปีที่: 59 ฉบับที่ 3 หน้า 127-136
คำสำคัญ
high flow nasal oxygen, NIV, acute non-hypercapnic hypoxemic respiratory failure, immunocompromised, ออกซิเจนอัตราไหลสูงผ่านทางจมูก, เครื่องช่วยหายใจชนิดไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ, ระบบหายใจล้มเหลวจากการขาดออกซิเจน, ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง