การศึกษาประสิทธิภาพของยาพาราเซตามอลในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำเปรียบเทียบกับการให้มอร์ฟีนทางช่องไขสันหลังในการระงับปวดหลังผ่าตัดคลอด
ณัฐธนภัทร์ เวชการณ์*, ณฐพร นาคน้อย, นุชจิรา พิพิชชวนชม
กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลกำแพงเพชร
บทคัดย่อ
ความเป็นมา : การผ่าตัดคลอด (cesarean section) เป็นหัตถการพื้นฐานทางสูตินรีเวชกรรม ความปวดหลังการผ่าตัด เป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เทคนิคการระงับปวดหลังผ่าตัดคลอดที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ การให้มอร์ฟีนทางช่องไขสันหลัง ซึ่งสามารถระงับปวดได้ดี แต่พบผลข้างเคียงได้บ่อย มีการให้ยาพาราเซตามอล
ทางหลอดเลือดดำในการระงับปวดหลังผ่าตัดมากขึ้น เนื่องจากสามารถระงับปวดหลังผ่าตัดได้ดี ลดการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่ม Opioid ทำให้ผลข้างเคียงจากยาน้อยลง
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการระงับปวดหลังผ่าตัดและผลข้างเคียงระหว่างการให้ยาพาราเซตามอล
ทางหลอดเลือดดำ ย่างเนื่องตามเวลาหลังผ่าตัด เปรียบเทียบกับการให้มอร์ฟีนร่วมกับยาชาทางช่องไขสันหลังก่อนการผ่าตัดในหญิงผ่าตัดคลอด
วิธีการศึกษา : เป็นงานวิจัยเชิงรักษา แบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ในหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ารับการผ่าตัดคลอด 160 ราย ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร ตั้งแต่ 1 มิถุนายนถึง 31 สิงหาคม 2563 สุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 80 คน กลุ่มเปรียบเทียบ ได้แก่ การระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาร่วมกับมอร์ฟีนเข้าช่องไขสันหลังและให้น้ำเกลือ (Normal Saline Solution; NSS) 100 มิลลิลิตร ทางหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง และกลุ่มศึกษา ได้แก่ การระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง และให้ยาพาราเซตามอล 1 กรัม ทางหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง เก็บข้อมูลคะแนนความปวดขณะพักและขณะเคลื่อนไหว ที่ 1, 6, 12 และ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด บันทึกปริมาณยาแก้ปวด Tramadol และ Pethidine ที่ได้รับเพิ่มเติมหลังผ่าตัด และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย
ผลการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างไม่มีความแตกต่างในเรื่องของอายุ อายุครรภ์ น้ำหนัก ส่วนสูง ดัชนีมวลกายและระยะเวลาผ่าตัด ค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดขณะพักที่ 1, 6, 12, 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ในกลุ่มศึกษาเท่ากับ 0.01±0.11, 4.97±1.88, 4.92±1.72, 3.56±1.52 และในกลุ่มเปรียบเทียบเท่ากับ 0, 2.33±1.54, 3.31±1.68, 3.62±2.00 ค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดขณะเคลื่อนไหวที่ 1, 6, 12, 24 ชั่วโมง หลังผ่าตัดในกลุ่มศึกษาเท่ากับ 0.06±0.29, 6.47±2.03, 6.21±1.81, 4.8±1.7 และในกลุ่มเปรียบเทียบเท่ากับ 0, 3.83±2.13, 5.02±1.98, 5.08±2.29ค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดหลังผ่าตัดที่ 1 และ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ไม่มีความแตกต่างกัน แต่ค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดหลังผ่าตัดที่ 6 และ 12 ชั่วโมง ในกลุ่มศึกษามากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) ปริมาณ Tramadol และ Pethidine ที่ผู้ป่วยได้รับเพิ่มเติมหลังผ่าตัดในกลุ่มศึกษามากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มเปรียบเทียบพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร้อยละ 23 และคันตามตัว ร้อยละ 60 แต่ไม่พบอุบัติการณ์ดังกล่าวในกลุ่มศึกษา
 
สรุปและข้อเสนอแนะ : ประสิทธิภาพในการระงับปวดหลังผ่าตัดคลอดของยาพาราเซตามอลในรูปแบบฉีด
เข้าหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องตามเวลา ไม่เทียบเท่าการให้มอร์ฟีนร่วมกับยาชาทางไขสันหลัง ที่ 6 และ 12 ชั่วโมงหลังผ่าตัด และพบอุบัติการณ์ของผลข้างเคียงในกลุ่มที่ให้มอร์ฟีนทางช่องไขสันหลังมากกว่ากลุ่มที่ได้พาราเซตามอลทางหลอดเลือดดำ ในทางปฏิบัติอาจนำพาราเซตามอลมาใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติการได้รับยากลุ่ม opioid ในการรักษาครั้งก่อนแล้ว เกิดผลข้างเคียงมาก โดยนำพาราเซตามอลมาใช้ร่วมกับยาแก้ปวดชนิดอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระงับปวดและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
 
ที่มา
เชียงรายเวชสาร ปี 2563, ปีที่: 12 ฉบับที่ 3 หน้า 131-142
คำสำคัญ
Cesarean section, postoperative pain, intrathecal morphine, ความปวดหลังผ่าตัด, การผ่าตัดคลอด, การให้มอร์ฟีนทางช่องไขสันหลัง, intravenous paracetamol, พาราเซตามอลรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ