ต้นทุน-ประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังระยะเฉียบพลันด้วยรูปแบบการดูแลระยะกลางแบบผู้ป่วยใน (intermediate care) เปรียบเทียบกับการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยนอก
อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ*, ฬุฬีญา โอชารส, บุษกร โลหารชุ่น, อุไรรัตน์ ศิริวัฒน์เวชกุล, วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล, สุประวีณ์ โอภาเฉลิมพันธ์ุ
สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี 11000
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังระยะเฉียบพลัน (post-acute stroke) จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูให้สามารถกลับมามีสมรรถภาพเหมือน คนปรกติ หรือใกล้เคียงคนปรกติมากที่สุด การฟื้นฟูในรูปแบบการดูแลระยะกลาง (intermediate care; IMC) เป็นโปรแกรมการฟื้นฟูแบบผู้ป่วยในเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยผู้ป่วยจะได้รับการฟื้นฟูอย่างเข้มข้นร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพได้ถูกเสนอให้ใช้ในระบบสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังระยะเฉียบพลันจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการฟื้นฟูแบบผู้ป่วยนอกเป็นจำนวน 24 ครั้งภายในระยะเวลา 6 เดือน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาความคุ้มค่าของโปรแกรมการฟื้นฟูในรูปแบบการดูแลระยะกลางแบบผู้ป่วยในเปรียบเทียบกับการฟื้นฟูในรูปแบบผู้ป่วยนอกในมุมมองทางสังคม โดยเก็บข้อมูลต้นทุนทางตรงทางการแพทย์ ต้นทุนทางตรงที่ไม่ใช่ด้านการแพทย์ ต้นทุนทางอ้อม รวมถึงการวัดความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย Barthel index score และวัดอรรถประโยชน์ด้วยแบบวัดคุณภาพชีวิต EQ-5D-5L พิจารณาความคุ้มค่าด้วยต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นของโปรแกรมการดูแลระยะกลางแบบผู้ป่วยในต่อ1 ปีสุขภาวะของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยใช้เกณฑ์ที่ 160,000 บาทผลการศึกษาพบว่าการฟื้นฟูด้วยโปรแกรม IMC มีความคุ้มค่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีคะแนนความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันต่ำ ต้นทุนที่จ่ายเพิ่มขึ้นต่อปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มที่มีคะแนน Barthel index น้อยกว่า 11 เป็น 24,821.20 บาท กลุ่มที่ Barthel index ระดับ 11-19 เป็น 148,927.20 บาทการวิเคราะห์ความไวของตัวแปรแสดงให้เห็นว่าต้นทุนของการดูแลระยะกลางที่ลดลงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความคุ้มค่า สรุปได้ว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังระยะเฉียบพลันด้วยรูปแบบการดูแลระยะกลางแบบผู้ป่วยในมีความคุ้มค่าในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังมีความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อเปรียบเทียบกับการฟื้นฟูในรูปแบบผู้ป่วยนอก
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2562, September-October ปีที่: 44 ฉบับที่ 5 หน้า 167-173
คำสำคัญ
Rehabilitation, การฟื้นฟูสมรรถภาพ, การฟืนฟูสมรรถภาพ, Intermediate care, Post-acute stroke, การดูแลแบบระยะกลาง, โรคหลอดเลือดสมองหลังระยะเฉียบพลัน