ผลการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ
วิษณุ อนิลบล*, อารยา ประเสริฐชัย, พรทิพย์ กีระพงษ์
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิชาเอกบริหารสาธารณสุข มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดชุมพร จำนวน 11 แห่ง ผลจากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยของคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งพบว่า คุณภาพชีวิตด้านจิตใจ มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับดีส่วนคะแนนเฉลี่ยของคุณภาพชีวิตด้านร่างกาย สังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value ≤ 0.05) คือ ความแตกต่างของอาชีพ รายได้ต่อเดือน และการได้รับการสนับสนุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จากระดับคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักอาจจะเนื่องจากโรคเอดส์เป็นโรคที่ไม่หายขาด มีโอกาสติดเชื้อฉวยโอกาสต้องปกปิดข้อมูลการรักษา และปัจจุบันยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมมากนักผลการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดชุมพร จำนวน 11 แห่ง พบว่า คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีค่าเฉลี่ยมากกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) ส่วนคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพด้านร่างกายและจิตใจ ในแต่ละขนาดโรงพยาบาลไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การให้การดูแลรักษากลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่มีคุณภาพ การส่งเสริมการมีอาชีพหรือการเพิ่มรายได้จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2562, May-June ปีที่: 44 ฉบับที่ 3 หน้า 120-129
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, Human immunodeficiency virus, Acquired Immune Deficiency Syndrome, ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี, ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง