ต้นทุน-ประสิทธิผลของการใช้Tamoxifen 10 ปี เปรียบเทียบกับ 5 ปี ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
สมชาย ธนะสิทธิชัย*, อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ, อรุณี ไทยะกุล, กมลชนก กวยรักษา, กฤติกา บุญมาก
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
บทคัดย่อ
บทนำ: มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในสตรีไทยและมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 70 จะมี estrogen receptor (ER) เป็นบวกรายงานการศึกษาในปัจจุบัน พบว่า การให้ยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)เสริมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรก (ระยะ I-III) เป็นเวลา 10 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นซ้ำและอัตราการเสียชีวิตลงได้มากกว่าการให้Tamoxifen เป็นระยะเวลา 5 ปี หากแต่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นทั้งนี้การรักษามะเร็งเต้านมด้วยยา Tamoxifen 5 ปีเท่านั้น ที่ได้รับการบรรจุภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วิธีการ: การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการประเมินต้นทุนและประสิทธิผลของระยะเวลาการให้ยา Tamoxifen 10 ปี เปรียบเทียบกับ 5 ปี เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาในลักษณะการประเมินต้นทุน-ประสิทธิผลของการให้ยาTamoxifen 10 ปี ในการรักษามะเร็งเต้านมระยะแรกที่มี ER เป็นบวกเปรียบเทียบกับการรักษา 5 ปี ในมุมมองทางสังคม โดยใช้แบบจำลองการตัดสินใจ (decision tree) และแบบจำลอง Markov จำลองธรรมชาติการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่ สถานะมะเร็งเต้านมระยะแรก สถานะมะเร็งเต้านมที่กลับเป็นซ้ำและสถานะเสียชีวิต ตัวแปรต้นทุนและคุณภาพชีวิตได้จากการเก็บข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติระหว่างปี พ.ศ. 2557-2558 ความน่าจะเป็นในการเปลี่ยนสถานะโรคทุกปีพิจารณาจากการทบทวนวรรณกรรมและสถิติสาธารณสุข โดยจำลองผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรก อายุ 55 ปี จำนวน 1,000 ราย ใช้อัตราลดร้อยละ 3 ต่อปี ผล: การให้ยา Tamoxifen เป็นเวลา 10 ปี มีต้นทุนตลอดชีพสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยา Tamoxifen 5 ปี เป็นจำนวนเงิน51,220,443.61 บาท (233,016,541.00 บาท ต่อ 181,796,097.39 บาท)แต่มีอายุยืนยาวมากกว่า 3,742.70 ปี (16,698.50 ปีต่อ 12,955.80 ปี)และมีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น 3,019.20 ปีสุขภาวะ (9,915.57 ปีสุขภาวะต่อ 6,896.37 ปีสุขภาวะ) ดังนั้น ต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากการใช้ยาTamoxifen 10 ปี ต่อ 1 ปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้น (ICER per QALY gained) เป็นจำนวนเงินประมาณ 16,964.92 บาท การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของตัวแปรพบว่าต้นทุนทางตรงที่ไม่ใช่ด้านการแพทย์ส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวแปรอื่น ๆ สรุป: การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกที่มีผล ER เป็นบวกด้วยยา Tamoxifen เป็นระยะเวลา 10 ปี มีความคุ้มค่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยา Tamoxifen เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นต่อปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1 เท่า ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product, GDP) ต่อประชากร ภายใต้เงื่อนไขของการศึกษาและข้อมูลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2564, May-June ปีที่: 44 ฉบับที่ 3 หน้า 100-107
คำสำคัญ
Breast cancer, QALY, Tamoxifen, มะเร็งเต้านม ทาม็อกซิเฟน ปีสุขภาวะ