การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการบำบัดรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุด้วยการประคบด้วยนวัตกรรมแผ่นประคบร้อน วิธีการฝังเข็ม และการออกกำลังกาย
ศักดิ์ชัย ถิรวิทยาคม, อาทิตย์ พวงมะลิ*, พิมพ์ชนก องค์สันติภาพ, สุพิชชพงศ์ สัทธาธรรมรักษ์, กรชนก วุฒิสมวงศ์กุล, อมรรัตน์ สัทธาธรรมรักษ์, ปารีส ผุยพานิชย์สิริ
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาผลของเทคนิควิธีการบำบัดรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ต่อการเปลี่ยนแปลงอาการปวดและประสิทธิภาพการทำงานของข้อเข่า โดยทำการศึกษาในผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมจำนวน 80 คน (อายุเฉลี่ย 69.86 +/- 6.91 ปี, น้ำหนัก 62.02 +/- 9.97 กิโลกรัม, ส่วนสูง 154.71 +/- 7.49 เซนติเมตร) แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 4 กลุ่มเทคนิคการรักษา (กลุ่มแผ่นประคบร้อน, กลุ่มฝังเข็ม, กลุ่มฝังเข็มร่วมกับการประคบร้อน, กลุ่มประคบร้อนร่วมกับการออกกำลังกาย) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า กลุ่มแผ่นประคบร้อนช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งภายหลังการวางประคบเสร็จสิ้นทันทีและภายหลังโปรแกรมการรักษานาน 6 สัปดาห์ (P<0.002) นอกจากนี้ยังพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของข้อเข่าดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 6 ของโปรแกรมการบำบัดรักษา (P<0.03) สำหรับกลุ่มฝังเข็มนั้นพบว่าอาการปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 6 ของการบำบัดรักษา (P<0.0001) และการทำงานของข้อเข่ามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น (P<0.007) สำหรับกลุ่มฝังเข็มร่วมกับการประคบร้อนนั้นพบว่าช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งภายหลังการวางประคบเสร็จสิ้นทันทีและภายหลังโปรแกรมการรักษานาน 6 สัปดาห์ (P<0.01) และพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของข้อเข่าทำได้ดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 6 (P<0.01) สำหรับกลุ่มประคบร้อนร่วมกับการออกกำลังกายนั้นพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของข้อเข่าทำได้ดีขึ้นทั้งภายหลังการวางประคบเสร็จสิ้นทันที (P<0.02) และภายหลังโปรแกรมการรักษานาน 6 สัปดาห์ นอกจากนี้พบว่าอาการปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 6 ของการบำบัดรักษา (P<0.0001) ในการเปรียบเทียบผลระหว่างเทคนิคของการบำบัดรักษาพบว่าอาการปวด (VAS), แบบประเมินข้อเข่า (WOMAC) และมุมข้อเข่า(ROM) ไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนระดับขีดกั้นความรู้สึกเจ็บปวดด้วยแรงกด (PPT) พบว่าในสัปดาห์ที่ 6 ของโปรแกรมการบำบัดรักษากลุ่มประคบร้อนร่วมกับการออกกำลังกายให้ผลดีกว่าการฝังเข็มเพียงอย่างเดียว(P<0.02) และยังพบว่ากลุ่มการวางประคบร้อน และกลุ่มฝังเข็มร่วมกับการวางประคบร้อน ช่วยให้ฟื้นกำลังกล้ามเนื้อหน้าขาได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการฝังเข็มอย่างเดียว (P<0.02) และพบว่ากลุ่มที่ได้รับการประคบร้อนร่วมกับการออกกำลังกายช่วยส่งเสริมความแคล่วคล่องในการลุกเดิน (TUG)ได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการฝังเข็มร่วมกับการประคบร้อน (P<0.004) การศึกษาในครั้งนี้สนับสนุนว่าทุกวิธีการบำบัดรักษาล้วนช่วยให้ภาวะข้อเข่าเสื่อมดีขึ้นในตัวแปรที่แตกต่างกันไปซึ่งจะได้ผลที่ชัดเจนเมื่อทำการบำบัดรักษาตามโปรแกรมอย่างต่อเนื่องมาสักระยะหนึ่ง อนึ่ง การบำบัดรักษาร่วมกันโดยการใช้ความร้อนและการออกกำลังกายเข้ามาประกอบในโปรแกรมการบำบัดรักษาน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้ผลการตอบสนองที่ดีในระยะยาวต่อการดูแลภาวะข้อเข่าเสื่อม
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2562, March-April ปีที่: 44 ฉบับที่ 2 หน้า 83-89
คำสำคัญ
Knee osteoarthritis, elderly, ผู้สูงอายุ, Exercise, Acupuncture, ออกกำลังกาย, ข้อเข่าเสื่อม, Hot Pack Innovation, นวัตกรรมแผ่นประคบร้อน, ฝั่งเข็ม