ต้นทุนต่อหน่วยและจุดคุ้มทุนของเครื่อง visual biofeedback ในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี
อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ, อรุณี ไทยะกุล, กัลยา ปรีดีคณิต, กรองแก้ว โตชัยวัฒน์*, ธรรมรุจา อุดม
โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20150
บทคัดย่อ
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการรุนแรงมักเสียชีวิตตั้งแต่ในระยะแรก  แต่ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่รอดชีวิตแต่ยังอาจมีความพิการหลงเหลืออยู่ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน เป็นปัญหาและภาระต่อผู้ป่วย ครอบครัว รวมทั้งสังคมในส่วนรวมโดยอาการของผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง  จะพบอาการอัมพาตครึ่งซีก ทำให้ความสามารถในการเดินลดลง  การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการเคลื่อนไหว  และการเดินมีหลายวิธี  ในปัจจุบันได้มีการนำอุปกรณ์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แบบแสดงผลตอบกลับ  (biofeedback)  เข้ามาช่วยในการฝึก  เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของแขน-ขา การลุก การยืน และการเดิน แต่จากการศึกษาที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาถึงต้นทุนต่อหน่วยและจุดคุ้มทุน ของเครื่อง visual biofeedback ในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยประโยชน์ของการวิเคราะห์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วย (unit cost)  และจุดคุ้มทุน  (break-even  point)    ของเครื่อง visual  biofeedback  ในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ในโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช-ญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 –30 กันยายน พ.ศ. 2558 การศึกษาจะทำการเก็บและรวบรวมข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย ข้อมูลต้นทุน ข้อมูลค่าลงทุน ค่าเครื่องมือ ค่าอาคารสถานที่ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงของเจ้าหน้าที่ และนำมาวิเคราะห์ข้อมูลของต้นทุนต่อหน่วย  และหาจุดคุ้มทุนของเครื่องมือ  จากการศึกษา  พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ามารับการรักษาด้วยเครื่อง visual biofeedback  ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ  จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – 30 กันยายน พ.ศ. 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 163 คน คิดเป็นจำนวนครั้งที่มารับบริการทั้งหมด 527 ครั้ง ต้นทุนค่าเสื่อมราคาของเครื่อง Visual biofeedback เท่ากับ 73,125 บาทต่อเดือน ต้นทุนค่าเสื่อมราคาของอาคารยิมเนเซี่ยม  เท่ากับ  734.13  บาทต่อเดือน ต้นทุนค่าแรงเจ้าหน้าที่ เท่ากับ 20,953.82 บาทต่อเดือน ต้นทุนค่าไฟฟ้า เท่ากับ 20.77 บาทต่อเดือน รวมต้นทุนทั้งหมด เท่ากับ 94,833.72 บาทต่อเดือน เมื่อแยกเป็นสัดส่วนร้อยละพบว่าต้นทุนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.11 เป็นส่วนของต้นทุนค่าเครื่องมือ  ในส่วนจำนวนครั้งของผู้รับบริการ  อยู่ที่ 44 ครั้งต่อเดือน เมื่อคิดค่าต้นทุนต่อหน่วยออกมาเท่ากับ 1,481.22 บาทต่อ 1 ครั้งของการรับบริการ ฉะนั้นในการใช้เครื่อง visual biofeedback ต้องใช้ทั้งหมด 3,253 ครั้งหรือคิดเป็นระยะเวลา 6.17 ปี ถึงจะถึงจุดคุ้มทุน
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2562, March-April ปีที่: 44 ฉบับที่ 2 หน้า 42-46
คำสำคัญ
Stroke, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, Unit cost, ต้นทุนต่อหน่วย, ผู้ปวยโรคหลอดเลือดสมอง, Unit cost analysis, Break-even point, Visual biofeedback, การวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วย, จุดคุ้มทุน, เครื่องฝึกการเคลื่อนไหวรยางค์ส่วนบนและรยางค์ส่วนล่างแบบให้ข้อมูลป้อนกลับทางชีวภาพ