การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของสารผสม 0.025% oxymetazoline กับ 1% lidocaine เทียบกับสารผสม 1% ephedrine กับ 2% lidocaine ในการเตรียมผู้ป่วยก่อนการส่องกล้องโพรงจมูก
ชัยรัตน์ วุฒิวงศานนท์*, วรภัทร์ ธีระบุญญกุล
โรงพยาบาลบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง : การส่องกล้องตรวจโพรงจมูกเป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลายและมีประโยชน์อย่างมากในการตรวจรักษาโรคทางจมูก การเตรียมผู้ป่วยก่อนการส่องกล้องโดยใช้สารบีบหลอดเลือดและ/หรือยาชาจะช่วยลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยและช่วยให้สามารถตรวจเห็นได้ชัดขึ้นการศึกษานี้เปรียบเทียบประสิทธิผลของสารผสม 0.025% oxymetazoline กับ 1% lidocaine และสารผสม 1% ephedrine กับ 2% lidocaineในการเตรียมผู้ป่วยก่อนการส่องกล้องโพรงจมูก วิธีการ : เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ไปข้างหน้าแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมและปกปิดสองทาง ในผู้ป่วยอายุ 18-70 ปี ที่มีข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องโพรงจมูก ที่มาตรวจ ณ แผนกหู คอ จมูก โรงพยาบาลบางพลี ทำการสุ่มว่าผู้ป่วยแต่ละรายจะใช้สำลีชุบสารผสม 0.025% oxymetazoline กับ 1% lidocaine หรือสารผสม 1%ephedrine กับ 2% lidocaine ใส่ในรูจมูกข้างใดก่อนการส่องกล้องโพรงจมูก ประเมินด้านต่าง ๆ ดังนี้ ระดับความคัดจมูก ความเจ็บปวดขณะใส่สำลีชุบสารผสม ความเจ็บปวดระหว่างการส่องกล้อง ความชัดเจนของการส่องกล้อง และตำแหน่งกายวิภาคของจมูกที่สามารถตรวจได้ในการส่องกล้อง ผล : สารผสม 0.025% oxymetazoline กับ 1% lidocaine และสารผสม 1% ephedrine กับ 2% lidocaine มีประสิทธิผลในการลดความคัดจมูกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (3.57±2.91 VS1.52±2.14, p-value = 0.000) และ (3.48±2.46 VS 1.34±1.81,p-value = 0.000) ตามลำดับ และไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสองกลุ่ม ทั้งในเรื่องความแตกต่างของระดับความคัดจมูกก่อนและหลังใส่สำลีชุบสารผสม (2.05±2.47 VS 2.14±2.19, p-value =0.890) ความเจ็บปวดขณะใส่สำลีชุบสารผสม (1.96±2.30 VS 1.77±2.37,p-value = 0.060) ความเจ็บปวดระหว่างการส่องกล้อง (4.19±3.36 VS4.05±3.35, p-value = 0.359) ความชัดเจนของการส่องกล้อง (6.71±2.24 VS 6.98±2.39, p-value = 0.204) และตำแหน่งกายวิภาคของจมูกที่สามารถตรวจได้ในการส่องกล้อง (3.78±0.74 VS 3.90±0.78, p-value= 0.106) สรุป: ประสิทธิผลของสารผสม 0.025% oxymetazolineกับ 1% lidocaine และสารผสม 1% ephedrine กับ 2% lidocaine นั้นไม่แตกต่างกัน และสามารถใช้สารผสมทั้งสองชนิดในการเตรียมผู้ป่วยก่อนการส่องกล้องโพรงจมูก
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2562, January-February ปีที่: 44 ฉบับที่ 1 หน้า 63-66
คำสำคัญ
Ephedrine, Lidocaine, Nasal endoscopy, การส่องกล้องโพรงจมูก, oxymetazoline, Nasal packing, การใส่ยาในจมูก