การให้กาบาเพนตินเพื่อระงับอาการปวดเฉียบพลันหลังผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้อง
หทัยภัทร สุขเจรียงพร*, สิทธิโชค มหาสุคนธชาติ
Department of Obstetrics and Gynecology Chonburi Hospital, 69 Sukhumvit Rd, Ban Suan, Chonburi 20000, Thailand; Email: suk.hathaipat@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาผลของการให้กาบาเพนตินขนาด 300 มิลลิกรัม รับประทานก่อนการผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้องที่โรงพยาบาลชลบุรี เพื่อดูประสิทธิภาพในการระงับปวดเฉียบพลันหลังผ่าตัด
วัสดุและวิธีการ:  การศึกษานี้เป็นงานวิจัยศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มและปิดบังข้อมูลสองฝ่าย โดยทำการศึกษาในหญิงที่มาเข้ารับการผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้องที่โรงพยาบาลชลบุรีตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2562 ถึง 26 เมษายน พ.ศ.2562 ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจะได้รับการสุ่มโดยระบบคอมพิวเตอร์แบบบล็อกละ 4 เพื่อแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เพื่อรับประทานยาก่อนผ่าตัด 2 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นยากาบาเพนตินขนาด 300 มิลลิกรัม หรือยาหลอก จุดประสงค์หลักคือการประเมินความเจ็บปวดหลังผ่าตัด โดยดูจากปริมาณยาโอปิออยด์ที่กดจากเครื่องควบคุมความปวดด้วยตนเอง จุดประสงค์รองได้แก่ ระยะเวลาที่กดโอปิออยด์เป็นครั้งแรก คะแนนความเจ็บปวด คะแนนความง่วงซึม ผลข้างเคียงจากยาโอปิออยด์ในเรื่องคลื่นไส้อาเจียน คัน และผลข้างเคียงจากกาบาเพนตินในเรื่องเวียนศีรษะ ซึ่งจะทำการบันทึกชั่วโมงที่ 1, 2, 6, 10, 14, 18, 24 หลังผ่าตัด
ผลการศึกษา:  ทำการวิเคราะห์ผลการวิจัยจากผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 60 ราย แยกเป็นกลุ่มกาบาเพนติน 30 ราย และ ยาหลอก 30 ราย พบว่ากาบาเพนตินมีประสิทธิภาพในการช่วยควบคุมภาวะปวดหลังผ่าตัดได้ดีกว่าเมื่อดูจากปริมาณยาโอปิออยด์ที่ใช้เพิ่มใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด พบว่าในกลุ่มกาบาเพนตินใช้ 14.23 ± 9.78 มิลลิกรัม ต่อ 21.77 ± 12.71 มิลลิกรัมในกลุ่มยาหลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด กลุ่มยากาบาเพนตินมีการใช้ยาโอปิออยด์น้อยกว่าอย่างมีนัยสําคัญ นอกจากนี้ระยะเวลาที่เริ่มใช้โอปิออยด์เป็นครั้งแรกพบว่าในกลุ่มของกาบาเพนตินนั้นใช้เวลานานกว่า คะแนนความปวดและอาการคลื่นไส้อาเจียนพบน้อยกว่าในกลุ่มกาบาเพนติน แต่ไม่มีความแตกต่างในเรื่องอาการคันหรือง่วงซึม อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงของยากาบาเพนตินเรื่องเวียนศีรษะพบว่ามีมากกว่าในกลุ่มที่ได้รับกาบาเพนติน
สรุป:  การให้ยากาบาเพนตินขนาด 300 มิลลิกรัมก่อนการผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้องอย่างน้อย 2 ชั่วโมงทั้งจากสาเหตุทั่วไปและสาเหตุมะเร็งให้ผลในการควบคุมภาวะปวดหลังผ่าตัดที่ดี และมีผลข้างเคียงน้อย
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2564, January-February ปีที่: 29 ฉบับที่ 1 หน้า 41-49
คำสำคัญ
total abdominal Hysterectomy, การระงับปวดหลังผ่าตัด, การผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้อง, Gabapentin, Postoperative pain control, กาบาเพนติน