การวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยของการผลิตชุดผ้าผ่าตัดปลอดเชื้อที่ใช้ในห้องผ่าตัดโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศศิธร เรืองประเสริฐกุล*, เสาวลักษณ์ รีรัตนพงษ์, จุฑารัตน์ เอี่ยมทอง, ภคมน อุปดิษฐ์, พิกุล นนทภา, ีรัญชิตา กิ่งวงค์
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์: การวิเคราะห์ต้นทุนสำหรับสถานพยาบาลเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยของการผลิตชุดผ้าผ่าตัดปลอดเชื้อที่ใช้ในห้องผ่าตัด โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เปรียบเทียบผลรวมต้นทุนทางตรงระหว่างการผลิตกับการจัดซื้อจากภายนอก
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา 1) วิเคราะห์กระบวนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลิตชุดผ้าผ่าตัดปลอดเชื้อ 2) ศึกษาต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์และต้นทุนทางบัญชี 3) รวบรวมต้นทุนทางตรงที่ได้จากต้นทุนค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าครุภัณฑ์สิ่งก่อสร้างและค่าสาธารณูปโภค และ 4) นำผลรวมต้นทุนทางตรงหารด้วยปริมาณกิจกรรมหรือผลผลิตต่อปี เพื่อให้ได้ต้นทุนต่อหน่วย
ผลการศึกษา: ต้นทุนต่อหน่วยของการผลิตชุดผ้าผ่าตัดปลอดเชื้อที่ใช้ในห้องผ่าตัดโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จำนวน 27 รายการ มีค่ามากสุด น้อยสุดและเฉลี่ย 192.11, 26.81 และ 100.31 บาทตามลำดับ ผลรวมต้นทุนทางตรงของการผลิตต่อ หัตถการ มากสุด น้อยสุดและเฉลี่ย 909,405,549 บาท ผลรวมต้นทุนทางตรงจากการจัดซื้อจากภายนอก มีค่ามากสุด น้อยสุดและเฉลี่ย 2,404 , 1,855 และ 2,191 บาทตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบผลรวมต้นทุนทางตรงระหว่างการผลิตกับการจัดซื้อจากภายนอกพบว่าต้นทุนผลิตมีค่าต่ำกว่า
2 - 5 เท่า
สรุป :  ผลรวมต้นทุนทางตรงของการผลิตชุดผ้าผ่าตัดปลอดเชื้อที่ใช้ในห้องผ่าตัดโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีต้นทุนต่ำกว่าผลรวมต้นทุนจากการจัดซื้อจากภายนอก
 
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2563, September-October ปีที่: 35 ฉบับที่ 5 หน้า 624-631
คำสำคัญ
Cost analysis, การวิเคราะห์ต้นทุน, Administration, Total direct costs, การบริหารจัดการ, ผลรวมต้นทุนทางตรง