ผลของการฝึกความแข็งแรงร่วมกับการฝึกกิจกรรมอย่างมีเป้าหมายที่บ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ต่อการทำงานของรยางค์ส่วนบนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเรื้อรัง
โอฬาร อิสริยะพันธุ์, จีราวรรณ เกิดสวัสดิ์มงคล, ณัฐชยา ชนแดน, น้อมจิตต์ นวลเนตร์, ดวงนภา รุ่งพิบูลโสภิษฐ์, วรุณนภา ศรีโสภาพ*
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์: การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเป็นสาเหตุหลักของการจำกัดการทำงานของรยางค์ส่วนบนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การฝึกกิจกรรมอย่างมีเป้าหมาย (task-oriented training: TOT) และการฝึกความแข็งแรงอาจฟื้นฟูการทำงานของรยางค์ส่วนบนได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการฝึกความแข็งแรงร่วมกับ TOT (strength training associated with TOT: ST_TOT) ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเรื้อรัง
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม โดยปกปิดสองทาง อาสาสมัคร 20 ราย ถูกสุ่มเข้ากลุ่ม ST_TOT และกลุ่ม TOT กลุ่มละ 10 ราย ได้รับการฝึกที่บ้านครั้งละ 70 นาที 5 วัน/สัปดาห์ 2 สัปดาห์ ประเมินการทำงานของรยางค์ส่วนบน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกำมือ และการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ด้วย The Streamlined Wolf Motor Function test-chronic (SWMFT-C), Hand grip dynamom-eter (HG) และ Modified Ashworth Scale (MAS) ตามลำดับ
ผลการศึกษา:  หลังฝึก 2 สัปดาห์ พบว่า กลุ่ม ST_TOT มีคะแนน SWMFT-C และค่า HG ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยค่า MAS ไม่เพิ่ม และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบตัวแปรในกลุ่ม TOT และระหว่างกลุ่ม
สรุป: การฝึกความแข็งแรงร่วมกับการฝึกกิจกรรมอย่างมีเป้าหมายที่บ้านในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเรื้อรังเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ส่งผลให้การทำงานของรยางค์ส่วนบน และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกำมือเพิ่มขึ้น
 
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2563, July-August ปีที่: 35 ฉบับที่ 4 หน้า 463-469
คำสำคัญ
Stroke, โรคหลอดเลือดสมอง, Muscle strength, ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, Task-Oriented Training, Upper Limb Functional Activities, Muscle Tone, การฝึกกิจกรรมอย่างมีเป้าหมาย, การทำงานของรยางค์ส่วนบน, การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ