เปรียบเทียบการขยายรูม่านตาระหว่างการใช้อะดรีนาลีนความเข้มข้นที่แตกต่างกันในสารละลาย BSS ฉีดเข้าในช่องหน้าตาในระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก
ร.อ.ไสว ฟุ้งธรรมสาร
โรงพยาบาลตรัง
บทคัดย่อ

 

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลในการขยายม่านตา จากการใช้อะดรีนาลีน ความเข้มข้น 0.6 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (กลุ่ม A) ในสารละลาย Balance Salt Solution (BSS) เทียบกับอะดรีนาลีน ความเข้มข้น 1.0 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (กลุ่ม B) ในการขยายม่านตา โดยฉีดเข้าในช่องหน้าตาในระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (phacoemulsification)

รูปแบบการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ prospective randomized clinical study

วิธีการ: ผู้เข้าร่วมในการศึกษา เป็นผู้ป่วยที่มาผ่าตัดต้อกระจก ด้วยวิธีการสลายต้อ ด้วยคลื่นความถี่สูงและใส่เลนส์แก้วตาเทียม ในโรงพยาบาลตรัง โดยจักษุแพทย์คนเดียวกัน เก็บข้อมูลอายุ เพศ โรคประจำตัว ชนิดของต้อกระจกกำลังของเลนส์แก้วตาเทียม ค่าความชัดในการมองเห็น (visual acuity) ก่อนและหลังผ่าตัด ทำการสุ่มให้ผู้ป่วยเข้าในกลุ่มทดลอง วัดขนาดของรูม่านตาด้วย caliper ภายใต้กล้องผ่าตัด โดยวัดสามครั้ง ครั้งแรกตอนเริ่มผ่าตัด ครั้งที่สอง ณ เวลาหนึ่งนาที่หลังใช้ BSS ผสมยาอะดรีนาลีนฉีดล้างในช่องหน้าตา และครั้งที่สามหลังฉีด viscoelastic หลังจากนั้นทำการผ่าตัด phacoemulsification และติดตามผลการผ่าตัดผลการศึกษา: ผู้ป่วยเข้าในการศึกษา 65 ราย อายุเฉลี่ย 67.8 ± 10.9 ปี เพศชาย 53.8% ขนาดของรูม่านตาเฉลี่ยก่อนฉีดยาอะดรีนาลีน กลุ่ม A 5.6 ± 0.8 มม. กลุ่ม B 6.0 ± 0.9 มม. หลังฉีดอะดรีนาลีน กลุ่ม A 6.6 ± 1.0 มม.กลุ่ม B 7.1 ± 0.8 มม.และหลังฉีดสารหนืด กลุ่ม A 7.3 ± 0.8 มม. กลุ่ม B 7.7 ± 0.8 มม. ค่าเฉลี่ยสายตาของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหนึ่งสัปดาห์ ของกลุ่ม A คือ Snellen 20/40 ของกลุ่ม B คือ Snellen 20/30 เกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นความดันลูกตาสูงหลังผ่าตัด หนึ่งรายในผู้ป่วยกลุ่ม A หลังได้รับยารักษาพยาบาลหนึ่งคืน ผู้ป่วยก็กลับสู่ภาวะปกติ

สรุป: สารละลายอาดรีนาลีนใน BSS ทั้งสองความเข้มข้น สามารถขยายรูม่านตาเพิ่มถึงขนาดที่สามารถผ่าตัดต้อกระจกด้วยวิธีสลายต้อด้วยคลื่นความถี่สูงและใส่เลนส์เลนส์แก้วตาเทียม ได้อย่างปลอดภัย

 
ที่มา
จักษุเวชสาร ปี 2562, July-December ปีที่: 33 ฉบับที่ 2 หน้า 85-91