การเปรียบเทียบผลของการฉีดยาชาบริเวณเนื้อเยื่อหน้าขาร่วมกับเนื้อเยื่อหลังข้อเข่าและการฉีดยาชาบริเวณเนื้อเยื่อหน้าขาอย่างเดียวต่อการระงับปวดหลังผ่าตัดในผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
กนกพล สิงห์ธนะ
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว น่าน ประเทศไทย
บทคัดย่อ
บทนำ: การระงับปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ผู้ป่วยลุกเดินได้เร็วขึ้น ทำกายภาพบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวเร็วขึ้น ระยะเวลานอนในโรงพยาบาลสั้นลง และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ในการศึกษานี้ตั้งข้อสมมุติฐานว่า การฉีดยาชาเพื่อระงับปวดหลังผ่าตัดด้วย
วิธี ACB ร่วมกับ IPACK block จะทำให้สามารถระงับปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้ดีกว่าการฉีดยาชาด้วยวิธี ACBเพียงวิธีเดียว
วิธีการศึกษา: ผู้ป่วยที่มาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวในระหว่างปี พ.ศ. 2562-2563 จำนวนทั้งสิ้น 16 ราย สุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับการระงับปวดหลังผ่าตัดด้วยวิธี ACB ร่วมกับ IPACK block กลุ่มที่ 2 ได้รับการระงับปวดด้วยวิธี ACB เพียงอย่างเดียว เก็บข้อมูล
ระดับอาการปวดหลังผ่าตัด ปริมาณยารักษาอาการปวดชนิดต่างๆ ภาวะแทรกซ้อน และความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการรักษาอาการปวดหลังผ่าตัด
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการระงับปวดหลังผ่าตัดด้วยวิธี ACB ร่วมกับ IPACK block ได้รับยา morphine สะสมที่ 12 ชั่วโมงหลังผ่าตัดเฉลี่ย 1.5 1.6 ± มิลลิกรัม ในขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการระงับปวดด้วย ACB เพียงวิธีเดียว เฉลี่ย 3.75 ± 1.39 มิลลิกรัม (p = 0.015) ไม่พบความแตกต่างในประเด็นระดับอาการปวดหลังผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อน และระดับความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการรักษาอาการปวดหลัง
ผ่าตัดในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม
สรุป: การทำ ACB ร่วมกับ IPACK block ช่วยลดปริมาณการใช้ morphine สะสม ที่ 12 ชั่วโมงหลังผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเมื่อเปรียบเทียบกับ ACB อย่างเดียว
 
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2563, January-March ปีที่: 47 ฉบับที่ 1 หน้า 1-9
คำสำคัญ
Total knee arthroplasty, Adductor canal block, interspace between the popliteal artery and the capsule of the posterior knee, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า pain control, opioid use