ผลของวีดีทัศน์สื่อความรู้ต่อการลดความกังวลในการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า
ณัชพล เติมพรเลิศ, ปัญจภรณ์ วาลีประโคน*
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการรับชมวีดีทัศน์สื่อความรู้เกี่ยวกับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าที่มีต่อความวิตกกังวลเกี่ยวกับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า
วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มเลือกเข้ากลุ่ม เปรียบเทียบความวิตกกังวลโดยใช้แบบสอบถาม Amsterdam Preoperational Anxiety and Information Scale (APAIS) ฉบับภาษาไทย ในผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยที่กำลังจะรับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าเป็นครั้งแรก ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับชมวีดีทัศน์สื่อความรู้ กับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ ในระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงตุลาคม 2562 วัดในช่วงก่อนเริ่มทำการศึกษา ช่วงหลังจากได้รับข้อมูลความรู้ทันที และหลังจากครบจำนวนครั้งของการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าช่วงเฉียบพลัน
ผลการศึกษา สำหรับกลุ่มทดลองที่ได้รับชมวีดีทัศน์สื่อความรู้เกี่ยวกับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า
(n = 11) มีคะแนนความวิตกกังวล APAIS น้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามปกติ(n = 10) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกข้อคำถาม ทั้งช่วงหลังได้รับข้อมูลความรู้ทันทีและช่วงหลังจากได้รับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าครบจำนวนครั้งและคะแนนมัธยฐานรวมทุกข้อคำถามของ APAIS ในกลุ่มทดลองช่วงก่อนทำการศึกษาจาก 18 คะแนน เหลือ 10 คะแนนในช่วงหลังได้รับข้อมูลความรู้ทันทีและ 6 คะแนนในช่วงหลังจากได้รับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าครบจำนวนครั้ง เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้ 19.5, 18.5 และ 12 คะแนน ใน 3 ช่วงเวลาดังกล่าวตามลำดับ
สรุป การได้รับชมวีดีทัศน์สื่อความรู้เกี่ยวกับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าสามารถลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการรักษาในผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยที่กำลังจะได้รับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าเป็นครั้งแรกได้
 
ที่มา
วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2563, April-June ปีที่: 65 ฉบับที่ 2 หน้า 153-166
คำสำคัญ
Anxiety, Electroconvulsive therapy, educational video, การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าความวิตกกังวล, วีดีทัศน์