คุณภาพชีวติของผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
ลลิดา นพคุณ*, รุจาธร อินทรตุล, นัทธมน วุทธานนท์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์: มะเร็งและการรักษาที่ได้รับมักส่งผลทางลบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็น การศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากอาจช่วยให้บุคลากรด้านสุขภาพสามารถวางแผนการดูแลที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จำแนกตาม อายุ ระดับการศึกษา ระยะของโรค และการรักษาที่ได้รับ
วิธีการศึกษา: การวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางนี้ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ระหว่างเดือนมกราคม ถึงมิถุนายน 2560 รวมจำนวน 127 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ ชุดแบบสอบถาม ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และแบบประเมินคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติพรรณนา และสถิติทดสอบ Kruskal-Wallis
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับสูง (120.78±14.72) เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตจำแนกตามอายุ ระดับการศึกษา ระยะของโรค และการรักษาที่ได้รับ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดมีคุณภาพชีวิตโดยรวมแตกต่างจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น (p=.039) โดยอยู่ในระดับปานกลาง (100.33±19.22) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า คุณภาพชีวิตด้านร่างกายและด้านเฉพาะโรคอยู่ในระดับปานกลาง (17.67±4.04 และ 28.00±4.59 ตามลำดับ)
สรุป: การศึกษานี้พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเคมีบำบัดมีคุณภาพชีวิตโดยรวมต่ำกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น ให้ข้อเสนอแนะว่า บุคลากรด้านสุขภาพควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการดูแลเพื่อลดอาการในผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2563, May-June ปีที่: 35 ฉบับที่ 3 หน้า 320-325
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Prostate cancer, มะเร็งต่อมลูกหมาก, คุณภาพชี่วิต