ผลของแคปซูลเพกาต่อระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยที่มีระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
สุภาณี สินเพิ่มสุขสกุล*, สมเกียรติ แสงวัฒนา
สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล แคปซูลเพกาซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ เพกา ได้มีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสามารถลดระดับของแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดได้ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาผลของแคปซูลเพกาต่อระดับแอลดีแอลคอเรสเตอรอลในเลือดในผู้ป่วยที่มีระดับแอลดีแอลคอเรสเตอรอลในเลือดสูง
วิธีการดำเนินวิจัย ทำการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง ในผู้ป่วยจำนวน 40 คน ที่มีระดับแอลดีแอลคอเรสเตอรอลในเลือดอยู่ระหว่าง 130-190 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ผู้ป่วยจะได้รับแคปซูลเพกา หรือแคปซูลเพกาหลอก 3.6 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ เจาะเลือดผู้ป่วยดูระดับแอลดีแอลคอเรสเตอรอลในเลือดที่ 0 และ 6 สัปดาห์
ผลการศึกษา ผู้เข้าร่วมการศึกษา 40 คน เป็นเพศชาย 12 คน (ร้อยละ 30 ) และเพศหญิง 28 คน (ร้อยละ 70) อายุเฉลี่ย 44.78 ± 10.89 ปี ข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พบว่าระดับของแอลดีแอลคอเรสเตอรอลในผู้ป่วยกลุ่มแคปซูลเพกาลดลงจาก 153.8 ± 15.9 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็น 146.8 ± 23.2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือลดลง 7.00 ± 16.79 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และในกลุ่มแคปซูลเพกาหลอกเพิ่มขึ้นจาก 157.6 ± 20.0 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็น 160.2 ± 22.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือเพิ่มขึ้น  2.85 ± 13.82 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร การเปลี่ยนแปลงของระดับแอลดีแอลคอเรสเตอรอลในเลือดของผู้ป่วยกลุ่มแคปซูลเพกาลดลงมากกว่ากลุ่มแคปซูลเพกาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การเปลี่ยนแปลงของระดับคอเรสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และเอชดีแอลคอเรสเตอรอล ของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมไปถึงผลข้างเคียงซึ่งพบว่าไม่แตกต่างกันในทั้งสองกลุ่ม
สรุป การรับประทานแคปซูลเพกา 3.6 กรัมต่อวันอาจจะมีผลในการลดระดับแอลดีแอลคอเรสเตอรอลในเลือดได้ในผู้ป่วยที่มีระดับแอลดีแอลคอเรสเตอรอลในเลือดสูงโดยไม่มีผลข้างเคียงที่สำคัญ
 
 
ที่มา
จุฬาอายุรศาสตร์ ปี 2562, July-September ปีที่: 32 ฉบับที่ 3 หน้า 150-159