ประสิทธิผลของยาคีโตโลแลคเปรียบเทียบกับมอร์ฟีนในการระงับอาการปวดแผลหลังผ่าตัดคลอดด้วยวิธีดมยาสลบ
วัชราภรณ์ อนวัชชกุลกลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลหนองบัวลำภู
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาคีโตโลแลคกับมอร์ฟีน ในการระงับอาการปวดแผลหลังผ่าตัดคลอดด้วยวิธีดมยาสลบ ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัดผลข้างเคียงของยา และจำนวนครั้งที่ขอยา
วัสดุและวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาโดยการสุ่ม เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาคีโตโลแลคกับมอร์ฟีน ในมารดาที่ผ่าตัดคลอดด้วยวิธีดมยาสลบ โดยจัดมารดาเข้ากลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มมอร์ฟีนจะได้รับยามอร์ฟีน 10 มิลลิกรัม จำนวน 66 ราย และกลุ่มคีโตโลแลคจะได้รับยาคีโตโลแลค 30 มิลลิกรัม จำนวน 66 ราย โดยทั้งสองกลุ่มจะได้รับยาฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อเมื่อคะแนนความเจ็บปวด ≥ 6 ทุก 6 ชั่วโมง ประเมินคะแนนความเจ็บปวดหลังผ่าตัดคลอดชั่วโมงที่ 3, 6, 12 และ 24 โดยมีการบันทึกผลข้างเคียงของยาและจำนวนครั้งที่ขอยา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย และทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วย t-test และ exact probability test
ผลการศึกษา: ทั้งสองกลุ่มไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติในด้านอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง โรคประจำตัว อายุครรภ์ ปริมาณเลือดที่เสียขณะผ่าตัด และจำนวนบุตร แต่พบความแตกต่างในด้านอาชีพ ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด น้ำหนักทารกแรกเกิด และระยะเวลาผ่าตัด ไม่พบความแตกต่างของคะแนนความเจ็บปวดหลังผ่าตัดชั่วโมงที่ 3, 6, 12 และ 24 (MD=-0.21, 0.15, 0.33, 0.02, 95%CI=-0.91-0.48, -0.49-0.80, -0.31-0.9,-0.34-0.37) และพบว่ากลุ่มที่ได้ยาคีโตโลแลคมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและวิงเวียนน้อยกว่า (p<0.001) กลุ่มที่ได้มอร์ฟีนอย่างมีนัยสําคัญ
สรุป: ยาคีโตโลแลคมีประสิทธิผลในการลดอาการปวดแผลหลังผ่าตัดคลอดได้เทียบเท่ามอร์ฟีน และให้ผลข้างเคียงน้อยกว่า ยาคีโตโลแลคสามารถใช้เป็นทางเลือกในการระงับอาการปวดหลังผ่าตัดคลอดได้
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี ปี 2562, September-December
ปีที่: 27 ฉบับที่ 3 หน้า 240-248
คำสำคัญ
pain, Cesarean section, morphine, General anesthesia, Ketorolac