ผลของโปรแกรมการออกกำลังกายด้วยโยคะต่อความเหนื่อยล้าและคุณภาพชีวิตของมารดาหลังคลอดครรภ์แรก
พรรณยุพา เนาว์ศรีสอน, ศิริวรรณ แสงอินทร์*, พิริยา ศุภศรี
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการออกกำลังกายด้วยโยคะต่อความเหนื่อยล้าและคุณภาพชีวิต ของมารดาหลังคลอดครรภ์แรก แบบแผนการวิจัย: วิจัยกึ่งทดลอง แบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างคือ มารดาหลังคลอดครรภ์แรกที่พักฟื้น ณ หอผู้ป่วยสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลนครพนม คัดเลือกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 52 ราย แบ่งเป็น กลุ่มควบคุม 26 ราย และกลุ่มทดลอง 26 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ส่วนกลุ่มทดลอง ได้รับโปรแกรมการออกกำลังกายด้วยโยคะร่วมกับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางสูติศาสตร์ แบบประเมินความเหนื่อยล้า และแบบวัดคุณภาพชีวิต เอสเอฟ 12 เวอร์ชั่น 2 ฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา  การทดสอบของฟิชเชอร์ การทดสอบค่าทีแบบอิสระ และการทดสอบค่าทีแบบไม่อิสระ ผลการวิจัย: กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความเหนื่อยล้าน้อยกว่ากลุ่มควบคุม และมีคะแนนเฉลี่ยความเหนื่อยล้าหลังการทดลองน้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตดีกว่ากลุ่มควบคุม  และมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตหลังการทดลองดีกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุป: ผลการวิจัยนี้ส่งผลให้มารดาหลังคลอดมีความเหนื่อยล้าลดลงและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนั้น จึงควรนำโปรแกรมนี้ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการความเหนื่อยล้าและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของมารดาหลังคลอด
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ปี 2563, January-April ปีที่: 31 ฉบับที่ 1 หน้า 109-120
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, Fatigue, คุณภาพชี่วิต, primiparous mothers, Yoga exercise, Quality of lilfe, ออกกำลังกายด้วยโยคะ, ความเหนื่อยล้า, มารดาหลังคลอดครรภ์แรก