การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของเจลสารสกัดใบบัวบก 5% กับเจลคลินดามัยซิน 1% ในการรักษาสิว
ภารดี อินทจันทร์*, วิภาเพ็ญ โชคสัมฤทธิ์
สาขาวิชาตจวิทยา สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรุงเทพมหานคร 36/87-88 ชั้น 25 อาคารพีเอสทาวเวอร์ สุขุมวิท 21 อโศก วัฒนา กรุงเทพฯ 10110 อีเมล: dr.paradee@gmail.com
บทคัดย่อ
สิวถือเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ในผู้ป่วยที่มีอาการระดับน้อยถึงปานกลางมักจะใช้ยาทาในกลุ่มยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดามัยซิน แต่ในผู้ป่วยบางรายเมื่อใช้ยาทาคลินดามัยซินในระยะยาวอาจเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะ รวมถึงมีผลข้างเคียง เช่น อาการระคายเคือง ผิวแห้งลอก เป็นต้น จึงเป็นที่มาของการนำสารสกัดจากธรรมชาติมาใช้แทนยาปฏิชีวนะ สารสกัดจากใบบัวบก (Centella asiatica) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Cutibacterium acnes (C.acnes) ลดการแบ่งตัวของ keratinocytes และมีฤทธิ์ช่วยสมานแผล จึงน่าจะนำมารักษาสิวได้ โดยงานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของเจลสารสกัดใบบัวบกเทียบกับเจล     คลินดามัยซินในการรักษาสิว ทำการศึกษาแบบ split-face, randomized, assessor-blind clinical trial ในอาสาสมัครที่มีอายุ 12-45 (27.85 ± 4.37) ปี ที่มีสิวระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลางจำนวน 30 คน โดยแบ่งซีกใบหน้าเป็นสองข้างและสุ่มเลือกให้ใบหน้าด้านหนึ่งทาเจลสารสกัดจากใบบัวบกและใบหน้าอีกด้านทาเจลคลินดามัยซิน ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นสิว ทาเจลเช้าและเย็นติดตามผลการศึกษาโดยประเมินผลจากการนับจำนวนเม็ดสิว และคะแนนระดับความรุนแรงของสิว รวมถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นที่ระยะเวลา 1, 2, 4, 8 และ 12 สัปดาห์ และความพึงพอใจโดยรวมของอาสาสมัครต่อการรักษาเมื่อสิ้นสุด การวิจัย ผลการศึกษาพบว่า มีอาสาสมัครที่อยู่จนครบการวิจัยจำนวน 26 ราย ด้านที่ได้รับการรักษาด้วยเจลสารสกัดใบบัวบก 5% มีจำนวนสิวอักเสบในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.009 และ 0.040 ตามลำดับ) ค่าเฉลี่ยของจำนวนสิวไม่อักเสบของทั้งด้านที่รักษาด้วยเจลสารสกัดใบบัวบก 5% และด้านที่ได้รับเจลคลินดามัยซิน 1% ลดลงอย่างต่อเนื่องตามช่วงระยะติดตามผลโดยไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตินอกจากนี้ ยังพบว่าคะแนนระดับความรุนแรงของสิวลดลงอย่างต่อเนื่องตามช่วงระยะติดตามผลทั้ง 2 ด้าน แต่ในสัปดาห์ที่ 8 ด้านที่รักษาด้วยเจลสารสกัดใบบัวบก 5% มีคะแนนระดับความรุนแรงของสิวน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.026) ในด้านความพึงพอใจโดยรวมของอาสาสมัครต่อการรักษาเมื่อสิ้นสุดการวิจัยของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน โดยด้านที่รักษาด้วยเจลสารสกัดใบบัวบก 5% พบอาการข้างเคียงคือแสบร้อนในระดับน้อยมากเป็นระยะสั้นๆ หลังทายา ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับเจลคลินดามัยซิน 1% ผิวหนังอักเสบมักมีอาการแสบร้อน คัน แห้ง และลอก จึงสรุปได้ว่าเจลสารสกัดใบบัวบก 5% มีประสิทธิภาพในการลดสิวอักเสบได้ดีกว่าเจลคลินดามัยซิน 1% ที่ระยะติดตามผล 8-12 สัปดาห์แต่มีความสามารถลดสิวไม่อักเสบได้เทียบเท่ากัน โดยเจลสารสกัดใบบัวบก 5% มีความปลอดภัยในการรักษาและพบอาการข้างเคียงน้อยกว่าเจลคลินดามัยซิน 1% ดังนั้น เจลสารสกัดใบบัวบก 5% จึงมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาสิวได้
 
 
ที่มา
วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปี 2563, April ปีที่: 27 ฉบับที่ 1 หน้า 1-11
คำสำคัญ
สิว, Clindamycin, Acne vulgaris, Centella asiatica extract, สารสกัดใบบัวบก, คลินดามัยซิน