ผลของการให้สุขภาพจิตศึกษาครอบครัวต่อความรุนแรงของอาการทางจิตในผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้สารแอมเฟตามีน
อณิมา จันทรแสน, เพ็ญพักตร์ อุทิศ*, สุนิศา สุขตระกูลคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความรุนแรงของอาการทางจิตในผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้สารแอมเฟตามีนก่อนและหลังการให้สุขภาพจิตศึกษาครอบครัว และ 2) เปรียบเทียบความรุนแรงของอาการทางจิตในผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้สารแอมเฟตามีน ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการให้สุขภาพจิตศึกษาครอบครัวกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ
วิธีการศึกษา: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้สารแอมเฟตามีนและครอบครัว ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์จำนวน 40 คน ผู้ป่วยจิตเภทได้รับการจับคู่ด้วยคะแนนความรุนแรงของอาการทางจิต แล้วถูกสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 คน กลุ่มทดลองได้รับการให้สุขภาพจิตศึกษาครอบครัว ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) โปรแกรมการให้สุขภาพจิตศึกษาครอบครัวซึ่งผู้วิจัยพัฒนาขึ้นประกอบด้วยกิจกรรม 9 กิจกรรม ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วย ผู้ดูแล และสมาชิกในครอบครัว การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคร่วมจิตเภทและการใช้สารแอมเฟตามีน การให้ความรู้เรื่องการรักษาด้วยยาและการฝึกทักษะจัดยาด้วยตนเอง การพัฒนาทักษะการสื่อสารภายในครอบครัว การพัฒนาทักษะการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสมภายในครอบครัว การให้ความรู้และพัฒนาทักษะ เรื่องอาการเตือน การป้องกันอาการกำเริบและการจัดการกับอาการกำเริบ การพัฒนาทักษะการเผชิญความเครียด เทคนิคการผ่อนคลายความเครียด และกิจกรรมก่อนการจำหน่ายและการติดตามหลังจำหน่าย 2) แบบวัดความรุนแรงของอาการทางจิต PANSS-T 3) แบบวัดความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเภทของญาติ และ 4) แบบวัดความรู้เกี่ยวกับโรคจิตเภทของผู้ป่วยจิตเภท เครื่องมือชุดที่ 3 และ 4 มีค่าความเที่ยง (KR-20) เท่ากับ .95 และ .94 ตามลำดับ
ผลการศึกษา: 1) ความรุนแรงของอาการทางจิตในผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้สารแอมเฟตามีนหลังการให้สุขภาพจิตศึกษาครอบครัวต่ำกว่าก่อนการให้สุขภาพจิตศึกษาครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) หลังการทดลอง ความรุนแรงของอาการทางจิตในผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้สารแอมเฟตามีนหลังได้รับสุขภาพจิตศึกษาครอบครัวต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05
ที่มา
The Journal of Psychiatric Nursing And Mental Health ปี 2562, September-December
ปีที่: 33 ฉบับที่ 3 หน้า 30-41
คำสำคัญ
Schizophrenia patients using amphetamine, Family psychoeducation, Symptoms severity, ผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้สารแอมเฟตามีน, สุขภาพจิตศึกษาครอบครัว, ความรุนแรงของอาการทางจิต